เมื่อเลือดหมดตัว (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

เมื่อเลือดหมดตัว-5

ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หาย แต่อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องยีนบำบัด (Gene therapy) อย่างไรก็ดีหากได้รับการดูแลที่ดี คนที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างคนปกติ ส่วนการดูแลให้เลือดหยุดขึ้นอยู่กับชนิดของโรค กล่าวคือ

  • กรณีโรคฮีโมฟีเลีย เอ อย่างอ่อน – จะใช้การฉีดยาฮอร์โมนเดสโมเพรสซิน (DDAVP) ในเส้นเลือดเพื่อกระตุ้นการปล่อยแฟคเตอร์ให้หยุดเลือด หรือบางครั้งก็ใช้เป็นยารักษาทางจมูก (Nasal medication)
  • กรณีโรคฮีโมฟีเลีย เอ หรือ โรคฮีโมฟีเลีย บี อย่างปานกลางจนถึงรุนแรง – การหยุดเลือดอาจทำได้หลังจากการได้รับแฟคเตอร์จากเลือดที่บริจาคเท่านั้น
  • กรณีโรคฮีโมฟีเลีย ซี – ใช้ยาที่มีแฟคเตอร์ 11 ช่วย

สำหรับการรักษาต่อเนื่อง แพทย์อาจแนะนำให้

  • ฉีด DDAVP หรือแฟคเตอร์ เพื่อป้องกันเลือดออก ช่วยลดเวลาที่ต้องอยู่โรงพยาบาล และหยุดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การที่ข้อถูกทำลาย
  • การใช้ยาต้านการสลายลิ่มเลือด (Antifibrinolytics)
  • การใช้กาวไฟบริน (Fibrin) หยุดเลือด โดยเฉพาะตอนทำฟัน
  • การรักษาทางกายภาพ (Physical therapy) เช่น กรณีข้อเสื่อมจากการตกเลือดก็อาศัยการผ่าตัดข้อ
  • การปฐมพยาบาล เช่น การห้ามเลือดด้วยการกดหรือพันแผลไว้ การประคบด้วยน้ำแข็ง
  • การฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ และ บี ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อเพราะการถ่ายเลือด

ส่วนการใช้ขีวิตประจำวันควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เลือดออกไม่หยุดและป้องกันข้อ เช่น

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และเดิน เพื่อสร้างกล้ามเนื้อและป้องกันข้อ อย่างไรก็ดี กีฬาที่ต้องมีการปะทะ (Contact sports) จะไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคนี้ เช่น ฟุตบอล ฮ็อคกี้ หรือมวยปล้ำ
  • หลีกเลี่ยงยาแก้ปวดบางชนิดที่กระตุ้นให้มีเลือดออกมากขึ้น เช่น ยา Aspirin และยา Ibuprofen โดยให้ใช้ยา Acetaminophen แทน ซึ่งจะปลอดภัยกว่า
  • หลีกเลี่ยงยาเจือจางเลือด (Blood-thinning medications) ที่เป็นยาป้องกันการจับตัวเป็นก้อนของเลือด เช่น ยา Heparin ยา Warfarin ยา Clopidogrel และ ยา Prasugrel
  • รักษาสุขภาพฟันให้ดี เพื่อป้องกันการถอนฟันซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เลือดออกมาก
  • ป้องกันเด็กจากอุบัติเหตุที่เป็นสาเหตุให้เลือดออกได้ เช่น ใส่ที่รองเข่า ที่รองข้อศอก หมวกกันน็อค หรือติดกันชนที่มุมโต๊ะ เป็นต้น
  • การให้เด็กใส่สร้อยข้อมือ (Medical alert bracelet) เพื่อเตือนหรือแจ้งต่อผู้อื่นว่าเด็กเป็นโรคฮีโมฟีเลียชนิดไหนเผื่อกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

แหล่งข้อมูล:

  1. Hemophilia. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hemophilia/basics/definition/con-20029824 [2017, October 5].
  2. Hemophilia.http://www.medicinenet.com/hemophilia/article.htm [2017, October 5].
  3. Hemophilia.https://www.healthline.com/health/hemophilia#overview1 [2017, October 5].
  4. Hemophilia A. https://www.hemophilia.org/Bleeding-Disorders/Types-of-Bleeding-Disorders/Hemophilia-A [2017, October 5].