เมื่อเลือดหมดตัว (ตอนที่ 2)

เมื่อเลือดหมดตัว-2

ศ.พญ.อำไพวรรณ กล่าวว่า ในระยะ10 ปีที่ผ่านมา ที่มีโครงการการรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียที่บ้าน ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียนับพันรายที่เคยต้องมารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลเดือนละ 2-3 ครั้งตลอดปี ได้หายไปจากโรงพยาบาล จนนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ไม่รู้จักอาการเลือดออกในข้อในกล้ามเนื้อ ปัญหาข้อพิการและภาวะกล้ามเนื้อลีบลดลงอย่างมาก

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ลงทะเบียนกับหน่วยบริการเฉพาะโรคฮีโมฟีเลียทั่วประเทศ ขณะนี้ มีจำนวน 1,519 ราย รู้จักดูแลตนเอง ไม่มีปัญหาข้อพิการ ไม่มีภาวะกล้ามเนื้อลีบอีกต่อไป ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ ไปโรงเรียน ไปทำงานได้ ผู้ปกครองและครอบครัวสุขใจ ไม่ต้องวิตกกังวล และไม่ต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อย ๆ

อนึ่ง โครงการรักษาโรคฮีโมฟีเลียเป็นโครงการที่ได้รับการประเมินแล้ว 2 ครั้ง โดย รศ.ชะอรสิน สุขศรีวงศ์ และคณะ ในปี พ.ศ.2551 และ ภญ.อรลักษณ์ พัฒนาประทีป และคณะ ในปี พ.ศ.2555 พบว่า เป็นโครงการที่ผู้ป่วยสามารถให้การดูแลตนเองได้ดี ลดการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล และคุ้มค่าการลงทุน

กล่าวคือ ต้นทุนที่ใช้เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ 1 ปี ของผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดรุนแรงมากและชนิดรุนแรงปานกลางที่ได้รับแฟคเตอร์เข้มข้นเพื่อการรักษาที่บ้านน้อยกว่าการไม่ใช้แฟคเตอร์เข้มข้นเพื่อการรักษาที่บ้านหนึ่งเท่า ดังนี้

ค่าใช้จ่ายโรคฮีโมฟีเลีย          ใช้แฟคเตอร์เข้มข้น          ไม่ใช้แฟคเตอร์เข้มข้น
ชนิดรุนแรงมาก   979,557 บาท/คน/ปี   2,122,085 บาท/คน/ปี
ชนิดปานกลาง   499,157 บาท/คน/ปี   829,504 บาท/คน/ปี

โรคฮีโมฟีเลีย Hemoplilia หรือโรคเลือดออกง่าย เป็นโรคที่พบยาก ตามธรรมชาติของร่างกาย เมื่อมีเลือดออกร่างกายจะดึงเซลล์เม็ดเลือดเข้าด้วยกันโดยจับตัวเป็นลิ่ม (Clot) เพื่อการหยุดเลือด ซึ่งกระบวนการจับตัวเป็นลิ่มจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของโปรตีนหลายชนิดที่เรียกว่า “ปัจจัยการแข็งตัวของเลือด” (Clotting factors) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “แฟคเตอร์” ดังนั้นถ้าขาดแฟคเตอร์ตัวใดตัวหนึ่งไปก็จะทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้

คนที่เป็นโรคนี้หากได้รับอุบัติเหตุจะมีเลือดออกนานกว่าคนปกติทั่วไป โดยเฉพาะกรณีที่เลือดออกภายในร่างกาย เช่น เข่า ข้อเท้า และข้อศอก เพราะอาจทำลายอวัยวะหรือเนื้อเยื่อและอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

โรคฮีโมฟีเลียแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด ตามลักษณะของแฟคเตอร์ที่ขาด ได้แก่

  • โรคฮีโมฟีเลีย เอ (Hemophilia A) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด พบได้ร้อยละ 80 ของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย (พบ 1 คน จาก 5,000 คน) เกิดจากการขาดแฟคเตอร์ 8 (Factor VIII)
  • โรคฮีโมฟีเลีย บี (Hemophilia B / Christmas disease) เป็นชนิดที่พบมากรองลงมา ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย (พบ 1 คน จาก 20,000-30,000 คน) เกิดจากการขาดแฟคเตอร์ 9 (Factor IX)
  • โรคฮีโมฟีเลีย ซี (Hemophilia C) เป็นชนิดที่อ่อน เป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงในสัดส่วนเท่าๆ กัน (พบ 1 คน จาก 100,000 คน) เกิดจากการขาดแฟคเตอร์ 11 (Factor XI)

แหล่งข้อมูล:

  1. ผลสำเร็จการจัดการ ‘ฮีโมฟีเลีย’ ลดผู้ป่วยแอดมิท ลดค่าใช้จ่าย รพ.https://www.hfocus.org/content/2017/09/14595 [2017, October 2].
  2. Hemophilia. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hemophilia/basics/definition/con-20029824 [2017, October 2].
  3. Hemophilia.http://www.medicinenet.com/hemophilia/article.htm [2017, October 2].
  4. Hemophilia.https://www.healthline.com/health/hemophilia#overview1 [2017, October 2].