เมื่อเลือดหมดตัว (ตอนที่ 1)

เมื่อเลือดหมดตัว-1

นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. กล่าวว่า โครงการโรคฮีโมฟีเลียหรือโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียเป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูงของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการในปี พ.ศ.2549

โดยสปสช.ได้ตระหนักและเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนด้านสุขภาพและมีการดำเนินการเชิงนโยบายนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับแฟคเตอร์เข้มข้นที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคอย่างครบถ้วน ซึ่งต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศที่มีคุณภาพในการรักษา

รวมทั้งให้การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการรับส่งต่อให้มีการบริการที่ได้มาตรฐาน สนับสนุนการจัดเครือข่ายบริการในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ที่สำคัญมีความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ทั่วประเทศในการจัดอบรมพัฒนาแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย โดยโครงการโรคฮีโมฟีเลียช่วยให้ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียนับ 1,000 รายต่อปี ไม่ต้องเข้านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้ลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

ด้าน ศ.พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย-กรุงเทพฯ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า โรคฮีโมฟีเลียเป็นโรคเลือดออกง่ายหยุดยากทางพันธุกรรม เป็นโรคที่พบไม่บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกบ่อยในข้อ ในกล้ามเนื้อ

ผู้ป่วยต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อรับน้ำเหลืองทดแทนแฟคเตอร์แปดหรือแฟคเตอร์เก้า ซึ่งเป็นสารโปรตีนช่วยในการแข็งตัวของเลือดที่ผู้ป่วยขาดเป็นเวลา 3-7 วัน เพื่อรักษาอาการเลือดออก โดยผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดรุนแรงมาก และชนิดรุนแรงแรงปานกลาง จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อมีอาการเลือดออก เดือนละ 2-3 ครั้งตลอดปี

ผู้ป่วยต้องทนทุกข์กับอาการปวดจากอาการเลือดออกในข้อ ในกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยต้องขาดเรียน ผู้ปกครองต้องขาดงานมาดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และผู้ป่วยยังเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ ได้แก่ โรคเอดส์ โรคตับอักเสบ จากการรับน้ำเหลืองปริมาณมากตั้งแต่วัยเด็กเล็ก โดยผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียจำนวนหนึ่งเสียที่ชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากอาการเลือดออกรุนแรงในสมอง ในช่องท้องและทางเดินอาหาร

ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียในปัจจุบัน ผู้ป่วยสามารถลงทะเบียนในโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งมี 49 โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ที่คอยแนะนำและสอนผู้ป่วยและครอบครัว ให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้เองที่บ้าน สามารถฉีดแฟคเตอร์เข้มข้นเข้าหลอดเลือด เมื่อเริ่มมีอาการติดขัดที่ข้อหรือกล้ามเนื้อ ซึ่งแฟคเตอร์จะหยุดอาการเลือดออกได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล

แหล่งข้อมูล:

  1. ผลสำเร็จการจัดการ ‘ฮีโมฟีเลีย’ ลดผู้ป่วยแอดมิท ลดค่าใช้จ่าย รพ.https://www.hfocus.org/content/2017/09/14595 [2017, October 1].