เมื่อวิกฤตวัยกลางคนมาเยือน (ตอนที่ 1)

เมื่อวิกฤตวัยกลางคนมาเยือน-1

      

      ยุคสมัยนี้ อย่าไปเรียกคนที่มีวัย 40 ปี เข้าช่วงวัยกลางคนเข้าเป็นอันขาด เพราะได้สำรวจพบว่าโลกทุกวันนี้ ถือว่าต้องเป็นผู้ที่อายุเข้า 55 ปี ไปแล้ว จึงจะถือว่าล่วงเข้าวัยกลางคน

      สำนักข่าวบีบีซีอังกฤษรายงานว่า จากการสำรวจคนอังกฤษที่เป็นผู้ใหญ่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป 1,000 คน เกือบทุกคนพูดเสียงแข็งว่า อย่าถือว่าพวกเขาเป็นผู้มีอายุ เพราะนั่นมันต้องเป็นคนที่มีวัยถึง 70 ปีแล้ว ซึ่งการศึกษาหนก่อนๆ แค่อายุ 36 ปี ก็ถือว่าเข้าวัยกลางคนแล้ว

      ถึงจะมีผู้ที่มีวัยย่างเข้าต้นๆ 50 ปี ในการสำรวจทางออนไลน์ 7 ใน 10 จะยอมรับว่า เป็นวัยกลางคนแล้ว แต่ส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยให้ความเห็นว่า ควรถือว่าชีวิตคนจะเริ่มต้นเมื่ออายุ 54 ปี และยังมีอีก 1 ใน 5 บอกว่า วัยกลางคนควรจะถือตอนอายุ 60 ปีเอาโน่น เมื่อลองถามดูว่า พวกเขาเห็นว่าวัยกลางคนควรจะไปสิ้นสุดเมื่ออายุเท่าใด พวกเขาเสนอว่า ต้องเลยอายุ 69 ปีไปแล้ว

      คำจำกัดความของคำว่า “วัยกลางคน” (Midlife) มีหลากหลายช่วงอายุด้วยกัน บางสำนักวิจัยก็ให้คำจำกัดความของวัยกลางคนว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 47 ปี ในขณะที่สำนักวิจัยอื่นจะนับเอาช่วงอายุ 35 ปี หรือ 45 ปี บ้างก็ถือเอาอายุระหว่าง 45-64 ปี

      โดยคนที่ผ่านวัยจะนี้บางคนจะพบกับวิกฤตของช่วงชีวิตที่เรียกว่า “วิกฤตวัยกลางคน” ด้วย ซึ่งมีงานวิจัยบางฉบับที่ประเมินว่า มีชาวอเมริกันร้อยละ 10 ที่ประสบปัญหาวิกฤติวัยกลางคน

      วิกฤตวัยกลางคน (Midlife crisis) เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน (Time of transition) และเป็นความท้าทายของผู้ที่มีอายุเข้าวัยกลางคน

      อายุที่มากขึ้นนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ความสัมพันธ์อาจสิ้นสุดลงหรือเปลี่ยนไป พี่น้องเพื่อนฝูงแก่ตัวลงหรือเสียชีวิตไป วิกฤติวัยกลางคนอาจแตกต่างกัน แต่สาเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นได้แก่

  • ได้รับการสื่อสารเรื่องเกี่ยวกับอายุว่า คนวัยกลางคนหรือคนสูงอายุจะมีความน่าสนใจน้อยลง
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น น้ำหนักตัวเพิ่ม มีอาการเจ็บ ปวด หรือแรงน้อย
  • กลัวความตาย
  • มีการหย่าร้างหรือความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไป
  • ความสัมพันธ์กับลูกหลานเปลี่ยนแปลง เช่น ลูกๆ เริ่มโตขึ้น และออกจากบ้าน เหลือแต่พ่อแม่ซึ่งอยู่ตามลำพัง (Empty nest syndrome) การเปลี่ยนสถานะเป็นคุณปู่คุณย่า
  • หน้าที่การงานเปลี่ยนไป
  • มีความท้าทายด้านการเงิน (Financial challenges) อันเนื่องมาจากการเกษียณ ออกจากงาน
  • ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป สุขภาพแย่ลง
  • รู้สึกว่าชีวิตไม่ได้เป็นดั่งที่หวังไว้

      

แหล่งข้อมูล:

  1. ถอย 'วัยกลางคน' ไกลออกไปอีก ไปตั้งต้นให้กับคนที่มีอายุ 55 ปี. https://www.thairath.co.th/content/293660 [2018, January 12].
  2. Midlife Crisis. https://www.goodtherapy.org/learn-about-therapy/issues/midlife-crisis [2018, January 12].
  3. Midlife Crisis: Transition or Depression? https://www.webmd.com/depression/features/midlife-crisis-opportunity#1 [2018, January 12].
  4. Midlife crisis. https://en.wikipedia.org/wiki/Midlife_crisis [2018, January 12].