เมื่อ “ตึกเป็นพิษ” (ตอนที่ 3)

อาการตึกเป็นพิษ (Sick building syndrome) ที่เกิดขึ้น เป็นพิษต่อระบบประสาทหรือทำให้มีปัญหาสุขภาพทั่วไป ซึ่งแต่ละคนก็อาจเกิดอาการต่างกันไป อาการของโรคตึกเป็นพิษอาจรวมถึง

  • อาการปวดและเวียนศีรษะ
  • อาการคลื่นไส้
  • อาการปวดเมื่อย
  • อาการเหนื่อยล้า
  • ไม่มีสมาธิ
  • หายใจสั้นหรือแน่นหน้าอก
  • เคืองตาและคอ
  • ระคายเคืองจมูกหรือมีน้ำมูกไหล (Running nose)
  • มีผื่นคันที่ผิวหนัง
  • ไวต่อกลิ่นและรสชาติ

อาการตึกเป็นพิษอาจเกิดอย่างเดียวหรือผสมกันหลายอย่าง และอาการในแต่ละวันก็อาจแตกต่างกันไปได้ หลายคนที่อยู่ในตึกเดียวกันอาจมีอาการที่ต่างกัน แต่เมื่อไม่ได้อยู่ในตึกนั้นอาการต่างๆ ก็ดีขึ้น

อาการตึกเป็นพิษอาจมีสาเหตุมาจากการระบายอากาศที่ไม่ดี การปนเปื้อนสารเคมี (Chemical contaminants) ทั้งจากในตึกและนอกตึก การปนเปื้อนทางชีวภาพ (Biological contaminants) เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ และเชื้อไวรัส

American Society of Heating, Refrigerating and Air-Conditioning Engineers (ASHRAE) ได้ปรับมาตรฐานของการระบายอากาศว่า ควรมีการจัดพื้นที่นอกอาคารให้ได้อย่างน้อย 15 cfm ต่อคน หรือพื้นที่ในอาคารอย่างน้อย 20 cfm ต่อคน [CFM = Cubic feet per minute หรือ ลูกบาศก์ฟุตต่อนาที]

คนที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคตึกเป็นพิษก็คือ คนที่ทำงานในตึกสมัยใหม่ที่ไม่มีการเปิดหน้าต่างและมีการระบายอากาศที่ไม่ดี

เพศชายและหญิงอาจมีอาการตึกเป็นพิษที่แตกต่างกัน เพราะมีรายงานว่าผู้หญิงมักจะมีอาการมากกว่าผู้ชาย อาจเป็นเพราะผู้หญิงมีระบบภูมิต้านทานที่ตอบสนองได้มากกว่า และมีแนวโน้มที่เยื่อบุผิวจะแห้ง (Mucosal dryness) และผิวหน้าเป็นผื่นแดงเนื่องจากมีไข้และติดเชื้อ (Facial erythema) ได้มากกว่า

นอกจากนี้ผู้หญิงอาจแพ้ต่อสิ่งแวดล้อมภายในอาคารได้มากกว่าเพราะ ส่วนใหญ่จะทำงานนั่งโต๊ะซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เช่น เครื่องพิมพ์เขียว (Blueprint machines) ในขณะที่ผู้ชายมักจะติดต่องานนอกออฟฟิศมากกว่า

แหล่งข้อมูล:

  1. Sick building syndrome. - http://www.nhs.uk/conditions/sick-building-syndrome/Pages/Introduction.aspx [2013, June 8].
  2. Sick building syndrome. - http://en.wikipedia.org/wiki/Sick_building_syndrome [2013, June 8].