เมื่อตับถูกกิน (ตอนที่ 8)

เมื่อตับถูกกิน

การจัดระยะของมะเร็งตับมีหลายระบบ เช่น ระยะ 1-4 หรือ ระยะ A-D โดยระยะของโรคมะเร็งตับใช้บอกว่า มะเร็งมีการกระจายไปขนาดไหน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลือกวิธีการรักษาดูแลผู้ป่วย ประกอบกับปัจจัยด้านอายุ ความแข็งแรงของสุขภาพ และผลข้างเคียงของการรักษา

การรักษาโรคมะเร็งตับสามารถทำได้ด้วย

  1. การผ่าตัด (Surgery) ด้วยการ

    1.1 การผ่าตัดพื่อเอาก้อนเนื้อออกบางส่วน – ทั้งนี้ มีบางกรณีที่แม้มะเร็งจะยังไม่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหริออวัยวะอื่น แต่ก็ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ (Unresectable cancers) เพราะมีความเสี่ยงในการผ่าตัด เช่น กรณีส่วนที่เป็นมะเร็งอยู่ใกล้อวัยวะที่สำคัญ เช่น หลอดเลือดแดงใหญ่ (Main arteries) หลอดเลือดดำ (Veins) และ ท่อน้ำดี (Bile ducts) หรือ กรณีที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง

    การผ่าตัดตับต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่ชำนาญ เพราะผู้ที่เป็นโรคมะเร็งตับมักมีปัญหาตับอย่างอื่นนอกจากการเป็นมะเร็ง ซึ่งศัลยแพทย์ต้องตัดเนื้อตับออกให้ได้มากที่สุดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง ในขณะเดียวกันก็ต้องเหลือสภาพตับให้เพียงพอเพื่อให้ตับทำงานต่อไปได้

    ปัญหาใหญ่ที่เกิดหลังการผ่าตัดก็คือ การมีเลือดออก (Bleeding) ทั้งนี้เพราะโดยปกติตับจะช่วยให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีเลือดไหลจากการบาดแผลหรือการได้รับบาดเจ็บ ดังนั้นการที่ตับถูกทำลายจึงทำให้มีโอกาสเลือดออกได้มาก นอกจากนี้หลังการผ่าตัด ยังอาจมีเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ ที่พร้อมจะโตได้อีกต่อไป

    1.2 การปลูกถ่ายตับ - อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีก้อนมะเร็งขนาดเล็กและไม่สามารถผ่าออกได้ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากตำแหน่งที่เป็น หรืออื่นๆ หรือเป็นทางเลือกสำหรับผู้สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมด

    อย่างไรก็ดี การปลูกถ่ายตับก็ทำได้ไม่มาก เพราะตับที่ได้รับการบริจาคมีจำนวนจำกัด และเช่นเดียวกับการผ่าตัดบางส่วน การปลูกถ่ายตับจะมีความเสี่ยงในเรื่อง การมีเลือดไหลไม่หยุด การติดเชื้อ

    นอกจากนี้ผู้ที่ปลูกถ่ายตับยังต้องกินยากดภูมิเพื่อไม่ให้ร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่ ซึ่งยานี้มีความเสี่ยงในการทำให้ติดเชื้อง่าย มีโอกาสทำให้เซลล์มะเร็งซึ่งกระจายไปที่อื่นแล้วโตเร็วขึ้น และอาจทำให้มีระดับความดันโลหิตสูง คลอเรสเตอรอลสูง เป็นเบาหวาน กระดูกอ่อน และไตไม่แข็งแรง

  2. การรักษาเฉพาะที่ (Localized treatments) ซึ่งเป็นการรักษาโดยมุ่งตรงไปยังเซลล์มะเร็งและบริเวณโดยรอบเซลล์มะเร็ง

    2.1 การบำบัดด้วยวิธีการทำอเบลชั่น (Ablation) - เป็นการทำลายเซลล์มะเร็งโดยไม่ได้ตัดออก ใช้ในผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้อขนาดเล็ก (น้อยกว่า 3 ซม.) และไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ มักใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรอปลูกถ่ายตับ และเพราะวิธีนี้อาจทำลายเนื้อเยื่อปกติที่อยู่รอบก้อนมะเร็งด้วย ดังนั้นจึงไม่นิยมใช้วิธีนี้รักษาก้อนมะเร็งที่อยู่ใกล้หลอดเลือดใหญ่ กะบังลม (Diaphragm) หรือท่อน้ำดี หลังการรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล

แหล่งข้อมูล

  1. Liver Cancerhttp://www.cancer.org/cancer/livercancer/ [2016, May 26].
  2. Liver Cancerhttp://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/liver-cancer/home/ovc-20198165 [2016, May 26].