เมื่อตับถูกกิน (ตอนที่ 7)

เมื่อตับถูกกิน

นอกจากนี้ เนื้องอกที่ตับยังส่งผลต่อฮอร์โมนของอวัยวะอื่นนอกจากตับด้วย โดยอาจเป็นสาเหตุให้เกิด

  • ระดับแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia) ซึ่งทำให้มีอาการคลื่นไส้ สับสน ท้องผูก อ่อนเพลีย หรือกล้ามเนื้อมีปัญหา
  • ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย (Fatigue) หรือหน้ามืดเป็นลม Fainting)
  • เต้านมโต (Gynecomastia) และ/หรือ ลูกอัณฑะหดตัวในเพศชาย
  • มีการเพิ่มขึ้นของปริมาตรเม็ดเลือดแดง (Erythrocytosis) ซึ่งทำให้หน้าแดง
  • มีระดับคลอเรสเตอรอลที่สูง

การวินิจฉัยโรคสามารถทำได้ด้วยการ

  • ดูประวัติการรักษาและตรวจร่างกาย เพื่อดูปัจจัยเสี่ยง
  • ภาพวินิจฉัย (Imaging tests) อย่าง
    • อัลตราซาวด์ (Ultrasonography) – ที่มักใช้เป็นเครื่องมือตรวจมะเร็งตับอันดับแรก โดยใช้คลื่นเสียงสร้างเป็นภาพหรือวีดีโอ
    • ซีทีสแกน (Computed tomography) เพื่อระบุชนิดของเนื้องอก ขนาด รูปร่าง และตำแหน่งที่เป็น ทั้งยังใช้เป็นตัวนำทางในการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (CT-guided needle biopsy)
    • เอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging) ที่ใช้บอกรายละเอียดของเนื้อเยื่อในร่างกาย ซึ่งบางทีก็สามารถบอกได้ว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดธรรมดาหรือก้อนเนื้อร้าย นอกจากนี้ยังใช้ดูหลอดเลือดรอบตับและดูว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายหรือไม่
    • การตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiography) ด้วยการฉีดสีหรือสารทึบรังสี (Contrast medium) เพื่อดูหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมะเร็งตับ เพื่อวางแผนการผ่าตัดและการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด เช่น การบำบัดด้วยวิธีเอมโบไลเซชัน (Embolization therapy)
    • การสแกนกระดูก (Bone scan) เพื่อดูว่ามะเร็งตับกระจายไปยังกระดูกหรือไม่ ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดกระดูก
  • การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งบอกมะเร็งตับ (Alpha-fetoprotein blood test = AFP) ใช้กับผู้ที่รู้ว่าเป็นมะเร็งตับแล้ว เพื่อดูว่าการรักษาได้ผลดีหรือไม่ กรณีที่ค่านี้สูง แสดงว่ายังมีมะเร็งตับอยู่ (การตรวจนี้จะใช้ไม่ได้ผลดีนักกับการยืนยันว่าเป็นมะเร็งตับหรือไม่ เพราะค่านี้สามารถสูงได้จากสาเหตุอื่นนอกจากมะเร็งตับ และบางกรณีค่านี้จะยังคงปกติสำหรับมะเร็งตับระยะแรก)
  • การเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ (Liver biopsy) แต่วิธีนี้อาจทำให้มีเลือดออก ติดเชื้อ และมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

นอกจากนี้ยังมีการตรวจระดับ Des-gamma-carboxy prothrombin ซึ่งมักจะพบว่ามีค่าสูงในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ

แหล่งข้อมูล

  1. Liver Cancer (Hepatocellular Carcinoma). http://www.medicinenet.com/liver_cancer_hepatocellular_carcinoma/article.htm [2016, May 25].
  2. Liver Cancerhttp://www.cancer.org/cancer/livercancer/ [2016, May 25].
  3. Liver Cancerhttp://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/liver-cancer/home/ovc-20198165 [2016, May 25].