เมื่อตับถูกกิน (ตอนที่ 2)

เมื่อตับถูกกิน

สำหรับก้อนเนื้อชนิดธรรมดาที่ไม่เป็นเนื้อร้าย หากโตขึ้นจะไม่กระจายไปยังเซลล์อื่น และกรณีที่ต้องรักษาก็มักจะใช้วิธีการผ่าตัด เช่น

  • เนื้องอกชนิดฮีแมงจิโอมา (Hemangioma) หรืออาจเรียกว่า "ปานแดงที่ตับ" ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเซลล์หลอดเลือด โดยเนื้องอกชนิดนี้จะไม่แสดงอาการและไม่จำเป็นต้องรักษา ยกเว้นกรณีที่มีอาการเลือดออกก็จำเป็นต้องผ่าตัดออก
  • เนื้องอกชนิดอะดีโนมา (Hepatic adenoma) เป็นก้อนเนื้อชนิดธรรมดา ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเซลล์ตับ (Hepatocytes) ส่วนใหญ่เนื้องอกชนิดนี้จะไม่แสดงอาการและไม่จำเป็นต้องรักษา แต่บางรายอาจมีอาการปวดหรือเป็นก้อนในท้องหรือเสียเลือด เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ก้อนเนื้อจะแตกได้ ซึ่งจะทำให้เสียเลือดมาก และมีความเสี่ยงที่จะกลายไปเป็นก้อนเนื้อร้ายได้ ดังนั้นแพทย์จึงมักแนะนำให้ทำการผ่าออก

    นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิดก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเนื้องอกชนิดอะดีโนมาได้ เช่น ยาคุมกำเนิดที่ผู้หญิงกิน หรือ ฮอร์โมนอนาโบลิคเสตียรอยด์ (Anabolic steroids) ที่ใช้ในผู้ชาย อย่างไรก็ดี หากมีการหยุดใช้ยาเหล่านี้เนื้องอกก็อาจฝ่อไปได้เอง

  • เนื้องอกชนิด Focal nodular hyperplasia (FNH) มีต้นกำเนิดมาจากเซลล์ได้หลายชนิด เช่น เซลล์ของเนื้อตับ เซลล์ของท่อน้ำดี มักไม่ใช่เนื้องอกที่ร้ายแรง แต่สามารถแยกได้ยากจากมะเร็งตับ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการ แพทย์มักจะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้องอกออกไปเลย

    ทั้งนี้ เนื้องอกชนิดอะดีโนมา และ เนื้องอกชนิด FNH มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ส่วนก้อนเนื้อชนิดที่เป็นเนื้อร้ายนั้นมีทั้ง 1) มะเร็งเกิดขึ้นในตับเองหรือที่เรียกว่ามะเร็งตับปฐมภูมิ (Primary liver cancer) และ 2) มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากบริเวณส่วนอื่นในร่างกาย (Secondary liver cancer / metastasis liver cancer) โดย

1) มะเร็งเกิดขึ้นในตับเองหรือที่เรียกว่ามะเร็งตับปฐมภูมิ (Primary liver cancer) ได้แก่

1.1 มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular Carcinoma = HCC) เป็นมะเร็งตับชนิดที่พบมากที่สุดในผู้ใหญ่ มีรูปแบบการเจริญเติบโตหลายลักษณะ ได้แก่

  • ชนิดแรกเป็นก้อนเนื้อก้อนเดียวที่ใหญ่ขึ้นๆ จนในระดับท้ายๆ ของโรค ถึงได้มีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของตับ
  • ชนิดที่สองไม่ได้เป็นก้อนเนื้อก้อนเดียว แต่เริ่มจากเนื้องอกเล็กๆ ที่กระจายไปทั่วตับ มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง (Cirrhosis)

แหล่งข้อมูล

  1. Liver Cancerhttp://www.cancer.org/cancer/livercancer/ [2016, May 20].