เมื่อตับถูกกิน (ตอนที่ 11 และตอนจบ)

เมื่อตับถูกกิน

The American Cancer Society ได้ทำการพยากรณ์โรค (Prognosis) ถึงอัตราการอยู่รอดหลัง 5 ปี (The 5-year survival rate) ของโรคมะเร็งตับ ดังนี้

  • ถ้ามะเร็งกระจายอยู่เฉพาะในตับ อัตราการอยู่รอดหลัง 5 ปี จะเท่ากับร้อยละ 28
  • ถ้ามะเร็งกระจายไปยังบริเวณใกล้เคียงตับ อัตราการอยู่รอดหลัง 5 ปี จะเท่ากับร้อยละ 7
  • ถ้ามะเร็งกระจายไปยังบริเวณอื่นๆ ที่ไกลออกไป อัตราการอยู่รอดจะอยู่ที่ประมาณ 2 ปี

อย่างไรก็ดี อัตราการอยู่รอดอาจแปรไปได้ตามการรักษา เช่น กรณีมีการผ่าตัดออก อัตราการอยู่รอดหลัง 5 ปี จะมากกว่าร้อยละ 50 หรือ กรณีที่มีการตรวจพบมะเร็งในระยะแรกและมีการปลูกถ่ายตับ อัตราการอยู่รอดหลัง 5 ปี จะอยู่สูงกว่าร้อยละ 70

ทั้งนี้ หลังการรักษาอาจกลับมาเป็นมะเร็งตับได้อีก (Recurrence) ซึ่งมีทั้งที่เกิดในบริเวณเดิมหรือที่ไกลออกไป ดังนั้น หลังจบคอร์สการรักษาจึงต้องมีการติดตามผลการรักษา (Follow-up) ต่อไปอีก เช่น การทำภาพวินิจฉัยทุก 3-6 เดือน ตลอดระยะเวลา 2 ปีแรก หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นทุก 6-12 เดือน

สำหรับการติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายตับนั้น ต้องทำการติดตามผลเพื่อให้แน่ใจว่า ร่างกายไม่ปฏิเสธอวัยวะใหม่ ซึ่งผู้ป่วยควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ส่วนการดูแลตัวเองหลังการรักษาหลักๆ ที่สามารถทำได้ คือ การกินอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

อนึ่ง ผศ.พญ.เอื้อมแข กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งทั่วโลกเมื่อปี 2555 พบว่า ประชากรโลกจำนวน 7,000 ล้านคน มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณ 14 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 8-9 ล้านคน

โดยเพศชายเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดมีผู้ป่วยอยู่ที่ 1.2 ล้านคน รองลงมาคือ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ ส่วนเพศหญิงพบมะเร็งเต้านมมากที่สุดอยู่ที่ 1.67 ล้านคน รองลงมาคือ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ

ด้าน นพ.ภัทรวินฑ์ อัตตะสาระ รองผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ในปี พ.ศ.2573 จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่พบว่าการเกิดโรคมะเร็งแต่ละชนิดมีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น

ทั้งนี้จากการศึกษา 8 ประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ไทย พม่า ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว พบว่า หลังเข้ารับการรักษาพยาบาล 1 ปี จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตร้อยละ 29 ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลร้อยละ 48 ในจำนวนนี้พบว่าร้อยละ 59 ใช้เงินสะสมจนหมด ร้อยละ 41 ต้องกู้ยืมเงินมาจ่ายค่ารักษา มีเพียงร้อยละ 23 เท่านั้นที่มีชีวิตอยู่ได้และไม่ล้มละลาย

แหล่งข้อมูล

1. ชายไทยน่าห่วง ป่วยมะเร็งตับมาก ตายสูง หญิงโสด ไม่มีลูกเสี่ยงมะเร็งเต้านม. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000006928&Keyword=%e2%c3%a4 [2016, May 29].

2. Liver Cancer. http://www.cancer.org/cancer/livercancer/ 2016, May 29].

3. Liver Cancer. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/liver-cancer/home/ovc-20198165 [2016, May 29].