เมื่อตับถูกกิน (ตอนที่ 10)

เมื่อตับถูกกิน

3. การใช้รังสีบำบัด (Radiation therapy) เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีหลายวิธี ได้แก่

  • การรักษาด้วยรังสีจากภายนอก (External beam radiation therapy) เพื่อทำให้ก้อนมะเร็งหดเล็กลง เพื่อลดอาการต่างๆ เช่น อาการปวด แต่ต้องระวังปริมาณรังสีที่จะไปทำลายเนื้อเยื่อที่ปกติด้วย เป็นการให้รังสีสัปดาห์ละ 5 วัน เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคเป็นการฉายรังสีด้วยภาพ 3 มิติ (3D-CRT) ซึ่งทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง
  • การฉายรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic body radiation therapy = SBRT) ซึ่งเป็นการฉายรังสีโดยให้ปริมาณรังสีสูงมากเพียงครั้งเดียวหรือเพียงน้อยครั้ง ส่วนผลข้างเคียงของการใช้รังสีบำบัด ได้แก่ ผิวหนังเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีตั้งแต่ผิวแดงจนไหม้เหมือนโดนแดดเผา คลื่นไส้และอาเจียน อ่อนเพลีย และความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดน้อยลง (Low blood counts)

4. การให้ยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted drug Therapy) เพื่อลดหรือหยุดการโตของก้อนเนื้อ เช่น ยา Sorafenib ซึ่งเป็นยาเม็ด กินวันละ 2 ครั้ง โดยมีผลข้างเคียง คือ อ่อนเพลีย เป็นผื่น เบื่ออาหาร ท้องเสีย ความดันโลหิตสูง ฝ่ามือและฝ่าเท้าปวด บวม แดง เป็นแผลพุพอง

5. การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการให้ยาเคมีฉีดเข้าเส้นเลือดหรือกินทางปากเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ยานี้จะเข้าสู่กระแสเลือดและไหลเวียนไปยังทุกส่วนของร่างกาย เช่น ยา Doxorubicin ยา 5-fluorouracil และยา Cisplatin

นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบ Hepatic Arterial Infusion Chemotherapy (HAI) ซึ่งเป็นเทคนิคการให้ยาเคมีบำบัดในปริมาณสูงเข้าสู่หลอดเลือดแดงตับ (Hepatic artery) โดยเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้ยาเคมีบำบัดแบบดั้งเดิม

ตัวอย่างของยาเคมีบำบัดแบบ HAI ได้แก่ ยา Floxuridine ยา Cisplatin ยา Mitomycin C และยา Doxorubicin ทั้งนี้ HAI มีผลทำให้ก้อนมะเร็งยุบขนาดลง แต่อาจใช้ไม่ได้กับผู้ป่วยทุกคนเพราะวิธีนี้มักต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อสอดท่อเข้าไปในเส้นเลือดซึ่งผู้ป่วยอาจไม่สามารถทนได้

สำหรับผลข้างเคียงของเคมีบำบัดโดยทั่วไป เช่น ผมร่วง เจ็บปาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้และอาเจียน ท้องเสีย ติดเชื้อง่าย (เพราะเซลล์เม็ดเลือดขาวน้อยลง) เป็นแผลหรือเลือดออกง่าย (เพราะเกล็ดเลือดน้อยลง) อ่อนเพลีย (เพราะเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยลง) แต่ผลข้างเคียงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

6. การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อช่วยลดอาการปวดหรืออาการอื่นของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น

7. การรักษาทางเลือกอื่นๆ (Alternative treatments) เช่น

  • การกดจุด (Acupressure)
  • การฝังเข็ม (Acupuncture)
  • การหายใจลึกๆ (Deep breathing)
  • การใช้ดนตรีบำบัด (Music therapy)
  • การนวด (Massage)

แหล่งข้อมูล

1. Liver Cancer. http://www.cancer.org/cancer/livercancer/ 2016, May 29].

2. Liver Cancer. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/liver-cancer/home/ovc-20198165 [2016, May 29].