เมื่อขาอยู่ไม่สุข (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

เมื่อขาอยู่ไม่สุข-3

      

      ยาเพื่อบรรเทาอาการ (ต่อ)

  • ยาที่มีผลต่อ Calcium channels เช่น ยา Gabapentin ยา Gabapentin enacarbil และ ยา Pregabalin
  • ยากลุ่ม Opioids เช่น ยา Codeine ยา Oxycodone ยาผสมระหว่าง Oxycodone และ Acetaminophen และ ยาผสมระหว่าง Hydrocodone และ Acetaminophen
  • ยาคลายกล้ามเนื้อและยานอนหลับ เช่น ยา Benzodiazepines ยา Clonazepam

      ซึ่งอาจต้องอาศัยการลองยาไปจนกว่าจะได้ยาที่ถูกกับตัวผู้ป่วย เพราะยาชนิดหนึ่งอาจใช้ได้ดีกับผู้ป่วยคนหนึ่งในขณะที่อาจทำให้ผู้ป่วยอีกคนหนึ่งมีอาการแย่ลง หรือในระยะแรกอาจใช้ได้ผลดี แต่พอใช้ไปนานๆ อาจไม่ได้ผล ทั้งนี้ ยาส่วนใหญ่ที่ใช้รักษากลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขจะไม่แนะนำให้ใช้กับหญิงมีครรภ์

      นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงยาบางตัวที่อาจจะทำให้มีอาการแย่ลงได้ เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressants) ยารักษาโรคจิต (Antipsychotic medications) บางชนิด ยาแก้อาเจียนบางชนิด และยาแก้หวัดแก้แพ้บางชนิด

      ส่วนการดูแลตัวเองเพื่อช่วยบรรเทาอาการขาอยู่ไม่สุขนั้น ควรเข้าใจถึงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการและหาทางหลีกเลี่ยงด้วย เช่น

  • การอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น การนั่งดูภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์
  • การอดนอน
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • คาเฟอีน ทั้งในรูปของชา กาแฟ เครื่องดื่มให้พลังงาน
  • บุหรี่ยาสูบ
  • การออกกำลังกายที่มากเกินไป
  • ความเครียด
  • อุณหภูมิที่ร้อนหรือหนาวเกินไป
  • น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined sugar)

      และควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  • ให้อาบน้ำอุ่นและนวดขาเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • ใช้การประคบร้อนหรือเย็น
  • สร้างสุขอนามัยที่ดีในการนอน (Good sleep hygiene) เช่น ห้องนอนเงียบ เย็นสบาย นอนให้พอ เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลาทุกวัน
  • ออกกำลังกายพอสมควรเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
  • คลายความเครียด เช่น โยคะ ทำสมาธิ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Restless legs syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/restless-legs-syndrome/symptoms-causes/syc-20377168 [2018, December 19].
  2. Restless Legs Syndrome. https://www.webmd.com/brain/restless-legs-syndrome/restless-legs-syndrome-rls#1 [2018, December 19].
  3. .