เมื่อของเล่นมีพิษ ไม่ใช่มิตรของหนูแล้ว (ตอนที่ 3)

เมื่อของเล่นมีพิษ

โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี จะมีโอกาสได้รับสารพิษมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ซึ่งบ่อยครั้งที่เด็กได้รับสารพิษตะกั่วจากการหายใจหรือกลืนฝุ่นที่เกิดจากสีทาบ้านรุ่นเก่าที่ตกอยู่ตามพื้นและขอบหน้าต่าง จากมือและของเล่น นอกจากนี้เด็กยังอาจได้รับสารพิษนี้ขณะที่อยู่ในครรภ์แม่ด้วย

เพราะร่างกายเด็กจะสามารถดูดซึมสารพิษนี้ได้ถึงร้อยละ 60 จากการสัมผัสสารตะกั่ว ดังนั้นถ้าเด็กกลืนหรือเคี้ยวของเล่นที่มีส่วนผสมของตะกั่วที่ไม่ปลอดภัย ก็อาจเป็นอันตรายต่อเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือบางกรณีอาจเสียชีวิตได้ โดยในแต่ละปี มีการพบเด็กอเมริกันที่อายุระหว่าง 1-5 ปี จำนวนกว่า 310,000 คน ที่มีสารพิษตะกั่วอยู่ในเลือด

สำหรับผู้ใหญ่ก็อาจได้รับสารพิษตะกั่วได้จากงานที่ทำ เช่น งานทาสี ก่อสร้าง ซ่อมรถ หรือ งานอดิเรก เช่น งานเพ้นท์กระจกสี (Stained glass) หรือจากฝุ่นที่เกิดขึ้นระหว่างการซ่อมแซมตกแต่งได้

เมื่อร่างกายได้รับสารตะกั่วไม่ว่าจะปริมาณเท่าใดก็สามารถทำให้เกิดพิษได้ หากได้รับสารพิษปริมาณที่มากในระยะเวลาสั้นจะเรียกว่า ได้รับพิษเฉียบพลัน (Acute toxicity) แต่หากได้รับในปริมาณที่น้อยแต่เป็นระยะเวลานานจะเรียกว่า ได้รับพิษเรื้อรัง (Chronic toxicity)

สารตะกั่วเป็นสารที่อันตรายเพราะเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะสามารถกระจายไปได้ทั่วร่างกายเช่นเดียวกับแร่ธาตุที่มีประโยชน์อย่าง ธาตุเหล็ก แคลเซียม และสังกะสี และสามารถทำอันตรายต่อทุกส่วนในร่างกายได้ เช่น สามารถทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงในกระแสเลือด ทำให้การนำออกซิเจนไปสู่อวัยวะอื่นทำได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลหิตจาง (Anemia)

ส่วนใหญ่สารตะกั่วจะไปจับที่กระดูก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น เพราะนอกจากจะแทรกแซงการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแล้ว ยังไปขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียมที่กระดูกด้วย

สำหรับการรักษาพิษตะกั่วนั้นขึ้นกับปริมาณตะกั่วที่อยู่ในเลือด ถ้ามีน้อยก็สามารถรักษาได้ง่าย โดยสิ่งสำคัญในการรักษาคือ ต้องลดพิษตะกั่วลงให้ได้ ซึ่งหากเป็นกรณีร้ายแรงในเด็กที่ได้รับสารพิษตะกั่วสูง อาจต้องรับสารคีเลต (Chelating agent) เพื่อขับสารพิษออกจากร่างกาย

นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้กินอาหารที่มีแร่ธาตุที่สำคัญอย่างแคลเซียม ธาตุเหล็ก และวิตามินซี ที่สามารถช่วยลดการดูดซึมของสารตะกั่วได้

ทั้งนี้ สารพิษตะกั่วสามารถทำอันตรายต่อร่างกายของเด็กได้ดังนี้

  • ลดการเจริญเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้อ
  • การทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน
  • ทำลายระบบประสาท ไต และ/หรือการได้ยิน
  • มีปัญหาด้านการพูดและภาษา
  • มีการเจริญเติบโตที่ช้า
  • ชัก (Seizures) และไม่รู้สึกตัว (ในกรณีที่ได้รับสารพิษในระดับสูง)

แหล่งข้อมูล

1. Lead Poisoning Prevention. https://www.health.ny.gov/environmental/lead/ [2014, October 15].
2. Effects on children. https://www.productsafety.gov.au/content/index.phtml/itemId/974135 [2014, October 15].
3. About Lead Poisoning. http://kidshealth.org/parent/firstaid_safe/home/lead_poisoning.html [2014, October 15].