เมิร์ส อีกแล้ว (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

เมิร์ส อีกแล้ว

เนื่องจากอาการติดเชื้อเมิร์สนั้นจะคล้ายๆ กับอาการติดเชื้ออื่น ทำให้ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าคนนั้นมีการติดเชื้อเมิร์สแล้ว การแพร่ระบาดในหลายแห่งจึงเกิดจากติดเชื้อระหว่างการดูแลผู้ป่วย หรือติดเชื้อระหว่างผู้ป่วยด้วยกันเอง ก่อนที่จะทราบว่าบุคคลนั้นๆ ติดเชื้อเมิร์ส ดังนั้นผู้ดูแลผู้ป่วยควรได้รับการอบรมถึงการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ และควรปฏิบัติตามเกณฑ์อยู่เสมอ

สำหรับการตรวจว่ามีการติดเชื้อเมิร์สหรือไม่นั้น สามารถทำได้ 2 วิธีใหญ่ๆ คือ

  1. PCR (Polymerase chain reaction) เป็นกระบวนการในการสังเคราะห์ชิ้นส่วนของดีเอ็นเอ (DNA) ในหลอดทดลอง
  2. Serology testing เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับเซรุ่มของเลือด (เซรุ่มวิทยา) เป็นการตรวจทางน้ำเหลือง ทั้งนี้ ระยะฟักตัวของเมิร์สที่จะแสดงอาการอยู่ที่ประมาณ 2-14 วัน (ส่วนใหญ่อยู่ที่ 5 - 6 วัน) โดยอาการของเมิร์สที่พบมีตั้งแต่ระดับที่ไม่แสดงอาการ (Asymptomatic) ระดับอ่อน ไปจนถึงระดับรุนแรง และเสียชีวิตในที่สุด อาการที่สำคัญ ได้แก่
    • เป็นไข้ (Fever)
    • ไอ (Cough)
    • หายใจลำบาก (Shortness of breath)

บางคนมีอาการปอดบวม (Pneumonia) ไตวาย ส่วนอาการที่เกิดกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการท้องร่วง อาการต่างๆ จะรุนแรงมากหากเกิดกับผู้สูงอายุ คนที่มีระบบภูมิต้านทานอ่อนแอ หรือคนที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคปอด และโรคเบาหวาน

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาเฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ส่วนการป้องกันนั้น มีคำเตือนสำหรับผู้ที่ไปเที่ยวในฟาร์ม ตลาด โรงนา หรือสถานที่ที่มีอูฐหรือสัตว์อื่น ว่าควรระวังเรื่องการรักษาความสะอาดด้วยการล้างมือก่อนและหลังการสัมผัสกับสัตว์ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่ป่วย และควรบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ นอกจากนี้ควร

  • ล้างมือด้วยสบู่นาน 20 วินาที
  • ปิดจมูกและปากด้วยทิชชูเมื่อไอหรือจาม
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูกและปากด้วยมือที่ยังไม่ได้ล้าง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย เช่น การจูบ การใช้ภาชนะอาหารร่วมกับผู้ป่วย
  • ทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสอยู่บ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู

ทั้งประเทศที่พบว่ามีการแพร่ระบาดหรือยังไม่มีการแพร่ระบาด ควรมีการตรวจตราเฝ้าระวังอย่างสูง โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากตะวันออกกลาง หากเป็นไข้หรือมีอาการป่วยทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หายใจลำบาก ภายใน 14 วัน หลังการเดินทางกลับจากประเทศในคาบสมุทรอาระเบียน ควรไปพบแพทย์ และหยุดพักงานหรือโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

แหล่งข้อมูล

  1. Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV). http://www.who.int/mediacentre/factsheets/mers-cov/en/ [2015, June 18].
  2. Frequently Asked Questions on Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS‐CoV). http://www.who.int/csr/disease/coronavirus_infections/faq/en/ [2015, June 18].
  3. Middle East Respiratory Syndrome (MERS) http://www.cdc.gov/coronavirus/mers/faq.html [2015, June 18].