เมาค้าง: รักษาและป้องกัน (Hangover)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

เมาค้างคืออะไร?พบบ่อยไหม?

เมาค้าง(Hangover) คือกลุ่มอาการต่างๆที่ทำให้ไม่สุขสบายหลังการดื่มสุรา (เอธธิลแอลกอฮอล์/Ethyl alcohol/ Ethanol/เอธธานอล)โดยเฉพาะการดื่มจัด ซึ่งทั่วไปอาการจะเกิดภายใน24ชั่วโมงหลังดื่มฯและจะมีอาการอยู่ประมาณ24ชั่วโมงเช่นกัน ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้เกิดอาการทางกาย เช่น ปวดหัวมาก, ปวดกล้ามเนื้อ/ปวดเนื้อตัว, คลื่นไส้-อาเจียน, ง่วง, วิงเวียนศีรษะ/บ้านหมุน, กระหายน้ำและปากคอแห้งมากจากภาวะขาดน้ำ, ขาดสมาธิ, จำอะไรไม่ค่อยได้, ฯลฯ, ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และบุคลิกภาพในสังคม และถ้าเกิดบ่อยครั้ง ก็จะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตจนก่อปัญหาด้าน การงาน การเรียน การเข้าสังคม การใช้ชีวิตประจำวัน

เมาค้าง เป็นอาการพบบ่อยมากในผู้ดื่มสุรา ทุกวัย ทุกเพศ ส่วนใหญ่มักเกิดจากดื่มสุรามาก แต่หลายรายก็สามารถเกิดเมาค้างได้แม้ดื่มสุราเพียงเล็กน้อยเพราะจะขึ้นกับพันธุกรรมของแต่ละคนที่มีความไวต่อสุรามากน้อยต่างกัน

เมาค้างเกิดได้อย่างไร?

เมาค้าง

เมาค้าง/อาการเมาค้าง เกิดจากพิษของสุรา ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ตับจะเปลี่ยนให้เป็นสารเคมีชื่อ ‘อะเซทัลดีไฮด์(Acetaldehyde)’ที่เป็นพิษต่อร่างกาย โดยจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อต่างๆทุกชนิด เช่น ผิวหนัง, เนื้อเยื่อช่องปาก, ลำคอ, เนื้อเยื่อตา, เนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจ, หลอดเลือด, หัวใจ, สมอง, กระเพาะอาหารและลำไส้, รวมถึงเป็นสารก่อมะเร็งสำคัญ(เช่น มะเร็งตับ, มะเร็ง ระบบ-ศีรษะ-ลำคอ ) จนส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการผิดปกติต่างๆที่เกิดจากการระคายเคือง/การเป็นพิษต่ออวัยวะเหล่านั้น ดังนั้นคนเมาค้างจึงมีอาการได้มากมาย(จะกล่าวต่อไปใน’หัวข้ออาการฯ’)

ซึ่งบางท่านเรียกว่า’กลุ่มอาการ’

อาการเมาค้าง นอกจากเกิดจากพิษของสาร’อะเซทัลดีไฮด์’แล้ว ยังเกิดจากภาวะขาดน้ำค่อนข้างรุนแรงเพราะการดื่มสุราส่งผลให้ปัสสาวะมากทั้งจำนวนครั้งและจำนวนปริมาณน้ำปัสสาวะร่วมกับการสูญเสีย วิตามิน แร่ธาตุ/เกลือแร่ที่เสียร่วมไปทางปัสสาวะและ/หรือทางอาเจียน

ปัจจัยทั้งหมดดังกล่าวร่วมกัน จึงส่งผลให้เกิดเมาค้าง/อาการเมาค้างขึ้น

เมาค้างมีอาการอย่างไร?

อาการต่างๆของเมาค้าง/อาการเมาค้าง เกิดจากพิษสุราที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายตอบสนองด้วยการสร้างสารอักเสบที่ส่งผลให้เกิดระคายเคืองอักเสบต่ออวัยวะต่างๆทั่วร่างกายจนเกิดเป็นเมาค้าง/อาการเมาค้าง ซึ่งอาการต่างๆที่พบบ่อย คือ

  • ผลต่อสมอง: เช่น
    • การนอน: ทำให้รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา แต่นอนหลับไม่สนิท หลับไม่ลึก หลับๆตื่น ส่งผลให้เกิดอาการของการนอนไม่พอ เช่น อ่อนเพลีย ขาดสมาธิ ตัดสินใจผิดพลาด
    • วิงเวียนศีรษะ/อาการรู้สึกหมุน/บ้านหมุน
    • ขาดสมาธิ
    • สับสน
    • จำอะไรไม่ค่อยได้
    • ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ หงุดหงิด ตัดสินใจไม่ถูก
    • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ผลต่อหลอดเลือดโดยเฉพาะหลอดเลือดสมอง: เช่น
    • ปวดหัวมาก, อาการปวดคล้ายโรคไมเกรน และถ้าผู้ป่วยมีโรคไมเกรนอยู่ก่อน เมาค้างจะกระตุ้นให้เกิดปวดหัวไมเกรนที่รุนแรงกว่าเดิมมาก
  • ผลต่อสมองและกล้ามเนื้อ: เช่น
    • ตัวสั่น
    • ปวดเนื้อตัว ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อประสาทตา ประสาทหู:
    • ตาไม่สู้แสง
    • ทนต่อเสียงดังและ/หรือบางเสียงไม่ได้โดยเฉพาะเสียงดังเพียงเล็กน้อย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะกระเพาะอาหาร: เช่น
    • คลื่นไส้-อาเจียน
    • ปวดท้อง ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
    • บางคนอาจท้องเสีย
  • ภาวะขาดน้ำ จากปัสสาวะบ่อย และแต่ละครั้งปริมาณมาก: เช่น
    • กระหายน้ำมาก
    • ปากคอแห้งมาก
    • ปวดหัวมาก
  • ขาด วิตามิน, แร่ธาตุ/ เกลือแร่: จากปัสสาวะมาก และ/หรือ อาเจียน อาการ เช่น
    • อ่อนเพลีย
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: อาการ เช่น
    • หัวใจเต้นเร็ว,
    • ใจสั่น
  • มีผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำ: อาการ เช่น
    • อ่อนเพลีย หมดแรง
    • ตัวสั่น
    • อารมณ์แปรปรวน
    • ถ้ารุนแรง อาจเกิดการชักได้

อะไรเป็นปัจจัยให้อาการเมาค้างรุนแรง?

ความรุนแรงของเมาค้าง/อาการเมาค้างขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่

  • ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม ยิ่งดื่มมาก อาการเมาค้างยิ่งมากและรุนแรง
  • ชนิดของสุรา และ/หรือ เครื่องดื่มชนิดอื่นๆที่ดื่มร่วมด้วย รวมถึงสาร/ยาเสพติดขณะดื่มฯ เพราะเครื่องดื่มและยาเสพติดเหล่านี้มีส่วนประกอบ/สารเคมีต่างๆที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการเมาค้างและยังช่วยเพิ่มความรุนแรงของอาการ เช่น
    • สุราที่มีสีเข้ม เช่น บรั่นดี, เบอร์บอน
    • เครื่องดื่มคาเฟอีนทุกชนิดที่ร่วมถึงเครื่องดื่มชูกำลังที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
    • เครื่องดื่มประเภทมีฟอง
    • สาร/ยาเสพติดต่างๆ
  • ดื่มสุราในภาวะท้องว่าง เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารดูดซึมสุราเข้าสู่ร่างกายได้เร็วและในปริมาณมาก
  • สูบบุหรี่ร่วมด้วย จากการช่วยกระตุ้นอาการเมาค้างของสารนิโคติน
  • นอนน้อยหรือนอนไม่พอในวัน/คืนก่อนดื่มสุรา
  • พันธุกรรม: ผู้ครอบครัวมีประวัติเมาค้าง, เพราะเป็นพันธุกรรมที่ทำให้ไวต่อสุรา

รักษาเมาค้างหรือดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ไหม?

เมาค้าง/อาการเมาค้าง เป็นอาการที่สามารถรักษาดูแลตนเองได้ ทั่วไปอาการมักหายได้ ภายในประมาณ 24 ชั่วโมง

ทั่วไป การรักษาและการดูแลตนเองเมื่อมีอาการการเมาค้าง ได้แก่

  • ห้ามดื่มสุราเพิ่มด้วยความเชื่อที่ว่าจะช่วยแก้อาการได้ เพราะถึงแม้อาการเมาค้างอาจเกิดจากภาวะร่างกายมีสุรา/แอลกอฮอล์ในเลือดต่ำลงโดยเร็ว(ที่เรียกว่า ลงแดง) แต่การดื่มสุราเพิ่มเติมจะทำให้อาการเมาค้างแย่ลงในเวลาต่อมา และส่งเสริมให้เกิดการติดสุราสูงขึ้นจนเกิดการเมาตลอดเวลา
  • แก้ไขภาวะขาดน้ำ: โดย
    • ดื่มน้ำสะอาดมากๆก่อนนอนหลังการดื่มสุรา และดื่มน้ำ/จิบน้ำบ่อยๆตลอดเวลา
    • ดื่มน้ำผลไม้เจือจาง
    • วางขวดน้ำไว้ใกล้มือ ใกล้เตียงนอน จิบน้ำบ่อยๆ จิบทุกครั้งที่ตื่น
  • เมื่อตื่นตอนเช้า และช่วงยังมีอาการ ควรรับประทานอาหารอ่อน ประเภทแป้งและน้ำตาล เพื่อ ลดการทำงานของกระเพาะอาหาร, ลดการกระตุ้นกรดในกระเพาะอาหาร, ลดอาการคลื่นไส้-อาเจียน, และจะช่วยเพิ่มน้ำตาลในเลือด เช่น น้ำซุปต่างๆ ขนมปัง โจ๊ก
  • ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา เพื่อชดเชยแร่ธาตุ/เกลือแร่ที่เสียไป เช่น เกตโทเลต
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มมีคาเฟอีนเพื่อช่วยให้หายง่วงนอน
  • ใช้ยาแก้ปวด เมื่อปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ แต่ควรระมัดระวังในการใช้ยาแก้ปวดเหล่านี้ เช่น พาราเซตามอล เพราะเป็นยามีผลข้างเคียงต่อตับโดยเฉพาะในคนที่ดื่มสุราเป็นประจำ, อาจใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มยาเอ็นเสดชนิดมีผลน้อยต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาไอบูโปรเฟน
  • ถ้ามีอาการปวดท้อง มีบางการศึกษาแนะนำให้กินยาลดกรดที่อาจช่วยบรรเทาอาการได้
  • บางการศึกษาทางการแพทย์สนับสนุนพบว่า การดื่มน้ำขิงเจือจาง และ/หรือ น้ำโสมเจือจาง อาจช่วยได้
  • ควรพักผ่อน นอนให้มากๆ, ควรลางานในวันนั้น

ป้องกันเมาค้างได้ไหม?

การป้องกันเมาค้าง/อาการเมาค้างให้ได้เต็มร้อย คือ ไม่ดื่มสุรา เพราะหลายคนที่แม้ดื่มฯเพียงเล็กน้อยก็เกิดอาการเมาค้างได้จากมีพันธุกรรมที่ไวต่อสุรา/เอธธิลแอลกอฮอล์ หรือจากดื่มฯโดยผสมกับเครื่องดื่มหรือสาร/ยาเสพติดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันหรือลดความรุนแรงของเมาค้าง/อาการเมาค้าง ได้แก่

  • ควบคุมตนเองให้ดื่มฯในปริมาณน้อยที่สุด ควรตระหนักถึงข้อจำกัดของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อเคยเกิดอาการเมาค้างมาแล้ว
  • หยุดดื่มฯทันที ที่ดื่มฯถึงขีดจำกัดของตนเอง
  • เลือกไม่ดื่มสุราชนิดสีเข็มเพราะจะมีส่วนผสมหลายชนิดที่กระตุ้นให้เกิดอาการเมาค้างและกระตุ้นให้อาการรุนแรง
  • ไม่ดื่มสุราผสมกับเครื่องดื่มคาเฟอีน ที่รวมถึงกาแฟ เพราะคาเฟอีนจะเพิ่มปัสสาวะให้มากจนเกิดภาวะขาดน้ำ
  • ไม่ดื่มฯผสมกับสาร/ยาเสพติดอื่นๆ
  • ไม่ดื่มฯร่วมกับเครื่องดื่มประเภทมีฟอง เพราะเครื่องดื่มประเภทมีฟองจะช่วยให้สุราถูกดูดซึมเข้าร่างกายได้เร็วขึ้น มากขึ้น
  • ไม่ทั้งดื่มฯและสูบบุหรี่ร่วมกัน
  • ไม่ดื่มฯช่วงท้องว่าง และควรรับประทานอาหาร/ของว่างร่วมไปด้วยขณะดื่มฯเพื่อลดการดูดซึมของสุรา โดยเฉพาะอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเพื่อช่วยเพิ่มน้ำตาลในเลือด
  • ค่อยๆดื่มสุรา ดื่มฯให้ช้าๆ ทีละน้อย เพื่อลดปริมาณสุราในกระแสเลือด
  • จิบน้ำ/ดื่มน้ำร่วมไปด้วยระหว่างดื่มสุรา เพื่อช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำและช่วยเจือจางปริมาณสุราให้ค่อยๆทยอยถูกดูดซึม
  • เมื่อกลับถึงบ้าน ดื่มน้ำให้มากๆ รวมทั้งมีขวดน้ำไว้ข้างเตียงเพื่อจิบ/ดื่มน้ำเมื่อรู้สึกตัวตื่นเพื่อช่วยลดภาวะขาดน้ำ
  • กินอาหารเช้าที่เป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย ที่มีเกลือแร่สูง เช่น ซุปต่างๆ โจ๊ก ขนมปัง เครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา
  • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ก่อนออกไปดื่มสังสรรค์ครั้งๆต่อๆไป
  • หลังการดื่มฯ ควรนอนหลับพักผ่อนในห้องนอนที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี, มีอุณหภูมิที่พอเหมาะ, สงบ ปราศจาก แสง เสียงรบกวน

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลรีบด่วน หรือ ฉุกเฉิน/ทันที ขึ้นกับความรุนแรงของอาการเมื่อ

  • สับสนมาก
  • ไม่ค่อยรู้สึกตัว
  • อาเจียนรุนแรงต่อเนื่อง
  • มีอาการ ชัก
  • หายใจช้ามากประมาณน้อยกว่า 10 ครั้ง/นาที (ผู้ใหญ่ ช่วงร่างกาย พัก ปกติ, จะประมาณ 12-20 ครั้ง/นาที)
  • หอบเหนื่อย/หายใจลำบาก หรือ หายใจไม่สม่ำเสมอตลอดเวลา
  • เนื้อตัว ปลายมือ ปลายเท้า เย็นมาก
  • ผิวหนัง และ/หรือ ริมฝีปาก และ/หรือ ปลายมือ ปลายเท้าเขียวคล้ำ
  • ปลุกไม่ตื่น
  • หมดสติ

บรรณานุกรม

  1. https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/7-steps-to-cure-your-hangover-and-ginkgo-biloba-whats-the-verdict [2021,Jan30]
  2. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hangovers/symptoms-causes/syc-20373012 [2021,Jan30]
  3. https://www.healthline.com/nutrition/best-hangover-cures#The-bottom-line [2021,Jan30]
  4. https://dhss.delaware.gov/dhss/dph/files/acetaldehydefaq.pdf [2021,Jan30]