เมทิลโดปา (Methyldopa)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมทิลโดปา (Methyldopa) เป็นสารเคมีจำพวก แอลฟา-อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสท์ (Alpha-adrenergic agonist) ถูกนำมาใช้เป็นยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูงรวมถึงรักษาความดันโลหิตสูงในหญิงที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ (Gestational hypertension)

รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาเมทิลโดปา มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด หากเป็นชนิดรับประทานจะมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเพียง 50% โดยประมาณ ตับจะเป็นตัวเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาเมทิลโดปา และมียาบางส่วนจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่สมองด้วย ยานี้สามารถซึมผ่านรก น้ำนมมารดา และเข้าสู่สมองของมนุษย์ได้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.7 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ประมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ยาเมทิลโดปาเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาเมทิลโดปาลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่นกัน โดยระบุการใช้ยานี้สำหรับรักษาความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์

ยาเมทิลโดปาจัดเป็นยาอันตราย ห้ามผู้บริโภคหาซื้อมารับประทานเอง ผู้ป่วยต้องได้รับคำยืนยันและคำสั่งจากแพทย์ก่อนการใช้ยานี้เท่านั้น

เมทิลโดปามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เมทิลโดปา

ยาเมทิลโดปามีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาความดันโลหิตสูง รวมความดันโลหิตสูงที่เกิดกับหญิงตั้งครรภ์ด้วย

เมทิลโดปามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมทิลโดปา คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ/หน่วยรับความรู้สึก (Receptor)ของร่างกายที่มีชื่อว่า แอลฟา2-อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ (Alpha-2 adrenergic receptor) ส่งผลต่อเนื่องกับกระบวนการทางเคมีของร่างกายจึงทำให้ความดันโลหิตลดลง

เมทิลโดปามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมทิลโดปา มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 125 และ 250 มิลลิกรัม/เม็ด

เมทิลโดปามีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมทิลโดปามีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 250 มิลลิกรัมวันละ 2 - 3 ครั้งเป็นเวลา 2 วัน จากนั้นแพทย์อาจค่อยๆปรับขนาดรับประทานยาตามการตอบสนองของผู้ป่วย โดยขนาดคงการรักษาของยานี้มักเป็นการรับประทาน 0.5 - 2 กรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 กรัม/วัน และหากใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตตัวอื่นควรใช้เมทิลโดปาไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) : เริ่มต้นรับประทาน 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานเป็น 2 - 4 ครั้ง แพทย์จะปรับขนาดรับประทานตามความจำเป็น โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 65 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 125 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง การเพิ่มขนาดรับประทานขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยและตามดุลพินิจของแพทย์ โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม/วัน

*อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมทิลโดปา ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเมทิลโดปา อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมทิลโดปา สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เมทิลโดปามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมทิลโดปาสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มือและเท้าบวม
  • เกิดภาวะซึมเศร้า
  • มีไข้
  • ฝันร้าย
  • วิตกกังวล
  • การครองสติผิดปกติไป
  • อ่อนแรง
  • กระสับกระส่าย
  • ความจำเลอะเลือน
  • สมรรถภาพทางเพศลดลง
  • วิงเวียน
  • รูม่านตาหดตัว
  • ปากคอแห้ง
  • มีอาการท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก
  • ปวดหัว
  • ปวดศีรษะไมเกรน
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดข้อ
  • ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • มีอาการสั่น
  • เต้านมโตพบได้ในเพศชาย (ผู้ชายมีนม)
  • ประจำเดือนขาด
  • หัวใจเต้นช้า
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ตับอักเสบ
  • ตับอ่อนอักเสบ
  • โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก
  • อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ยาได้

มีข้อควรระวังการใช้เมทิลโดปาอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิลโดปา เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคตับที่อยู่ในช่วงอาการกำเริบ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Haemolytic anaemia)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยเนื้องอกของต่อมหมวกไต/ ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ระหว่างใช้ยานี้ควรระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการควบคุมเครื่องจักรกลเพราะจะเกิดอุบัติได้ง่ายจากผลข้างเคียงของยานี้ที่อาจก่ออาการวิงเวียนได้
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาเมทิลโดปา ควรต้องรับการตรวจเลือดตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อควบคุมความผิดปกติของจำนวนเม็ดเลือดแดงที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทิลโดปาด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เมทิลโดปามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมทิลโดปามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเมทิลโดปา ร่วมกับยา Levodopa อาจเพิ่มการออกฤทธิ์ของยาเมทิลโดปาและเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำรวมถึงเกิดอาการทางจิตประสาทร่วมด้วย การจะใช้ยาร่วมกันควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ตลอดจนต้องเคร่งครัดในเรื่องขนาดของการรับประทานยา
  • การใช้ยาเมทิลโดปา ร่วมกับ วิตามินที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนผสม อาจลดการดูดซึมของยาเมทิลโดปา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร้อมกัน
  • การใช้ยาเมทิลโดปา ร่วมกับยาบางตัว เช่นยา Pseudoephedrine, Phenylephrine อาจเป็นเหตุให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาเมทิลโดปา ร่วมกับยา Clonidine จะส่งผลให้หัวใจเต้นช้าจนอาจถึงขั้นเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย อาจมีอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก วิงเวียนและเป็นลม หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเมทิลโดปาอย่างไร?

ควรเก็บยาเมทิลโดปา:

  • เก็บยาในที่เย็น
  • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เมทิลโดปามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมทิลโดปา มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Adomet (อะโดเมท) Medicine Products
Aldomet (อัลโดเมท) M & H Manufacturing
Aldomine (อัลโดมีน) Utopian
Dopamed (โดปาเมด) General Drugs House
Dopasian (โดปาเชียน) Asian Pharm
Isomet (ไอโซเมท) M & H Manufacturing
Medopa (เมโดปา) Atlantic Lab
Mefpa (เมฟปา) Central Poly Trading
Metpata (เมทปาตา) Central Poly Trading
Nudopa 250 (นูโดปา 250) Medicine Products
Siamdopa (สยามโดปา) Siam Bheasach

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Methyldopa [2020,Nov21]
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fmethyldopa%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Nov21]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/methyldopa.html [2020,Nov21]
  4. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682242.html#storage-conditions [2020,Nov21]