เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) คือ ฮอร์โมน กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) ชนิดสังเคราะห์ หรือจะกล่าวว่าเป็นยาในกลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ก็ได้ ทางคลินิกนำไปใช้เป็นยาต้านการอักเสบ โดยจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของร่างกายรวมไปถึงเข้าควบคุมระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย กลุ่มอาการโรคที่อยู่ในขอบข่ายที่สามารถรักษาด้วยยาเมทิลเพรดนิโซโลน เช่น ข้ออักเสบ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักใช้ยานี้ในระยะสั้นๆ และมีบางกลุ่มอาการโรคที่ต้องใช้ยานี้เป็นเวลานานๆเช่น โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) โรคลูปัส-โรคเอสแอล (SLE: Systemic lupus erythematosus) และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาในเชิงป้องกันมิให้ร่างกายของมารดาปฏิเสธตัวอ่อนในครรภ์ รวมถึงการใช้ยานี้ในภาวะหัวใจหยุดเต้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเมทิลเพรดนิโซโลนเป็นเวลานานๆสามารถก่อให้เกิดผลเสีย(ผลข้าง เคียง) ตามมาได้ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง  กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด  เกิดภาวะร่างกายติดเชื้อง่าย ใบหน้าบวม  น้ำหนักตัวเพิ่ม ความดันโลหิตสูง เกิดอาการคั่งของน้ำและเกลือโซเดียมในร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอาการบวมน้ำ  

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของยาเมทิลเพรดนิโซโลนมีหลายรูปแบบ เช่น ยาฉีด ยารับประทานยาเหน็บทวารหนัก และยาใช้เฉพาะที่

ธรรมชาติของยานี้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะเข้ารวมกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 78% อวัยวะตับและไตจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของตัวยาเมทิลเพรดนิโซโลนอย่างต่อ เนื่อง และต้องใช้เวลาประมาณ 18 - 36 ชั่วโมงเพื่อกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากเนื้อเยื่อของร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับทางเดินปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยมีวัตถุ ประสงค์เพื่อใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ที่ป่วยด้วยภาวะกรวยไตอักเสบ

ยาเมทิลเพรดนิโซโลนจัดอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ บางสูตรตำรับขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย การใช้ยานี้กับผู้ป่วยจะต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น

เมทิลเพรดนิโซโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาเมทิลเพรดนิโซโลนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น    

  • รักษาและบำบัดอาการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อของร่างกาย(ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ)
  • ป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย
  • รักษาอาการโรคหืดชนิดเฉียบพลัน
  • รักษาภาวะไขสันหลังได้รับบาดเจ็บชนิดเฉียบพลัน
  • รักษาอาการข้ออักเสบรวมถึงโรคข้อรูมาตอยด์

เมทิลเพรดนิโซโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมทิลเพรดนิโซโลนลดภาวะอักเสบของร่างกาย โดยมีกลไกชะลอการชุมนุมของ                         เม็ดเลือดขาว (กลไกของร่างกายเมื่อเกิดการอักเสบ) ในบริเวณอวัยวะที่มีการอักเสบ รวมถึงเพิ่มการดูดซึมกลับของสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของร่างกาย จากกลไกเหล่านี้ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เมทิลเพรดนิโซโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมทิลเพรดนิโซโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 4 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดชนิดผง (ใช้ละลายในสารละลายก่อนใช้ยา) ขนาด 40, 125, 500, 1000 และ 2000 มิลลิกรัม/ขวด
  • โลชั่นทารักษาสิวที่ผสมร่วมกับยาอื่น

เมทิลเพรดนิโซโลนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ยาเมทิลเพรดนิโซโลนมีขนาดการใช้ยาตามอาการของโรค ซึ่งจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้ รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานดังนี้เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นรับประทาน 2 - 60 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 1 - 4 ครั้ง/วัน โดยแพทย์จะค่อยๆปรับลดขนาดการใช้ยาให้ได้ต่ำสุดเพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยา แต่ยังคงให้ได้ประ สิทธิภาพการรักษาสูงที่สุด
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): เช่น รับประทาน 0.5 -7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานทุกๆ 6 - 12 ชั่วโมง/วัน

*อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมทิลเพรดนิโซโลน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น        

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทิลเพรดนิโซโลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมทิลเพรดนิโซโลน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เมทิลเพรดนิโซโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมทิลเพรดนิโซโลนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีอาการบวมน้ำ
  • ความดันโลหิตสูง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เกิดสิว
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผิวบาง
  • กระดูกพรุน และกระดูกหักง่าย
  • เกิดต้อกระจก และ/หรือต้อหิน
  • เกิดการติดเชื้อต่อร่างกายได้ง่าย
  • ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแพ้ยานี้

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะพบเห็น อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ, เกิดการตีบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณหัวใจ (เจ็บหน้าอกมาก), และอาการเหล่านี้สามารถจะเกิดขึ้นได้เมื่อให้ยาทางหลอดเลือดอย่างรวดเร็วจนเกินไป

มีข้อควรระวังการใช้เมทิลเพรดนิโซโลนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการยาใช้เมทิลเพรดนิโซโลน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อกด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคที่เยื่อหุ้มสมอง รวมถึงใน โรคติดเชื้อไวรัส โรคเชื้อรา และวัณโรคที่ผิวหนัง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนตับอักเสบบี
  • ด้วยบางสูตรตำรับของยานี้มีผสม Benzyl alcohol ที่เป็นสารยับยั้งเชื้อโรค จึงห้ามนำยาสูตรตำรับนี้ไปใช้กับเด็กทารก
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กและวัยรุ่นด้วยยานี้จะกดการเจริญเติบโตของร่างกาย
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ สตรีวัยหมดประจำเดือน ด้วยยานี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกพรุนและกระดูกหักง่าย
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคตับวาย โรคไตวาย ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคลมชัก
  • หลีกเลี่ยงการหยุดยานี้ด้วยตนเองโดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มาเป็นเวลานาน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทิลเพรดนิโซโลนด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เมทิลเพรดนิโซโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมทิลเพรดนิโซโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น       

  • การใช้ยาเมทิลเพรดนิโซโลน ร่วมกับยา Bupropion อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการชักในผู้ป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่ติดสุรา หรือผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชักอยู่แล้ว การจะใช้ยาทั้งคู่กับผู้ป่วยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ห้ามใช้ยาเมทิลเพรดนิโซโลน ร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ (Smallpox vaccine) ด้วยอาจก่อความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคนี้ของผู้ป่วยจากวัคซีน อีกทั้งสามารถเพิ่มหรือลดการตอบสนองของร่างกายต่อการกระตุ้นด้วยวัคซีน
  • การใช้ยาเมทิลเพรดนิโซโลน ร่วมกับ ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่นยา Ciprofloxacin, Norfloxacin สามารถทำให้เกิดอาการเส้นเอ็นอักเสบ(เอ็นบาดเจ็บ1)และ ปริแตกได้ มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเช่น เปลี่ยนไต หัวใจ ปอด ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน
  • การใช้ยาเมทิลเพรดนิโซโลน ร่วมกับยา Thalidomide (ยารักษามะเร็งบางชนิด) อาจก่อให้ เกิดอันตรายด้วยเกิดการแข็งตัวของเลือดได้ง่าย ซึ่งขึ้นกับอายุของผู้ป่วย ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งหากต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์มักจะให้ยาละลายลิ่มเลือด /ยาสลายลิ่มเลือดร่วมด้วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเมทิลเพรดนิโซโลนอย่างไร?

ควรเก็บยาเมทิลเพรดนิโซโลน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • สำหรับ ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ควรเก็บภายในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
  • ควรเก็บยานี้ทุกรูปแบบ
    • ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
    • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เมทิลเพรดนิโซโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมทิลเพรดนิโซโลน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Depo-Medrol (ดีโป-เมดรอล) Pfizer
Neo-Medrol Acne Lotion (นีโอ-เมดรอล แอคเน โลชั่น) Pfizer
Solu-Medrol (โซลู-เมดรอล) Pfizer
Somidex (โซมิเด็กซ์) Gentle Pharm/TTN

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Methylprednisolone   [2022,May28]
  2. https://www.drugs.com/methylprednisolone.html   [2022,May28]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/methylprednisolone?mtype=generic  [2022,May28]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/solu-medrol?type=full  [2022,May28]
  5. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_info/index?name=methylprednisolone&brand=&rctype=&drugno=  [2022,May28]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=methylprednisolone  [2022,May28]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/methylprednisolone-index.html?filter=3&generic_only=   [2022,May28]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/methylprednisolone-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,May28]
  9. https://www.empr.com/drug/medrol-dosepak/  [2022,May28]