เมทอกซาเลน (Methoxsalen)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมทอกซาเลน (Methoxsalen) หรืออีกชื่อคือ ยาแซนโททอกซิน(Xanthotoxin) เป็นยาที่นำมาบำบัดอาการ โรคสะเก็ดเงิน/โรคเรื้อนกวาง โรคผื่นผิวหนังอักเสบ และโรคด่างขาว ปกติจะเห็นการใช้ยาเมทอกซาเลนร่วมกับการฉายแสงยูวีเพื่อบำบัดอาการทางผิวหนัง

อาจยกตัวอย่างถึงกลไกการรักษาของยานี้ร่วมกับแสงยูวีได้ดังนี้ เช่น ในโรคสะเก็ดเงินซึ่งเป็นอาการทางผิวหนังที่มีการแบ่งเซลล์ของผิวหนังผิดปกติ ยาเมทอกซาเลนจะออกฤทธิ์ต่อการทำงานของสารพันธุกรรม (DNA) ของผู้ป่วย ส่งผลให้ชะลอการผลิตเซลล์ผิวหนังในบริเวณผิวหนังที่เป็นรอยโรค และแสงยูวีจะช่วยทำลายเซลล์ชั้นผิวหนังที่เป็นรอยโรค และยังกระตุ้นเซลล์ผิวหนังบริเวณรอยโรคให้สร้างเม็ดสีของผิวหนังซึ่งจะเพิ่มผลดีมากขึ้นในโรคด่างขาว

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเมทอกซาเลนที่พบเห็นในประเทศไทย จะเป็นยาชนิดรับประทาน และยาทาเฉพาะที่ ซึ่งยาเมทอกซาเลนสามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 75 – 91% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 0.75 – 2.4 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

ทั้งนี้ ยังมีข้อห้ามของการใช้ยาเมทอกซาเลน บางประการที่ผู้บริโภคควรทราบ อาทิ

  • ห้ามใช้ยาเมทอกซาเลนกับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้แสงแดด
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคทางผิวหนังบางชนิด เช่นโรค Lupus erythematosus, Porphyria cutanea tarda, Erythropoietic protoporphyria, Variegate porphyria, Xeroderma pigmentosum, และ Albinism(ภาวะผิวเผือก/คนเผือก)
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิด Invasive squamous cell carcinomas และ ชนิด Melanoma
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเอาเลนส์ตาออก (Aphakia) ด้วยตัวยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของการทำลายจอตาได้มากขึ้น
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาเมทอกซาเลน ดังนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องใช้ยานี้เฉพาะตามคำสั่งแพทย์และอย่างเคร่งครัด
  • ยาหลายตัวที่ผู้ป่วยมีใช้อยู่ก่อน เมื่อนำมาใช้ร่วมกับยาเมทอกซาเลน อาจเกิดความเสี่ยงกระตุ้นให้ผิวหนังแพ้แสงแดด หรือเกิดผิวไหม้ได้มากขึ้น เช่น Anthralin(ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน) , Coal tar, Griseofulvin, Nalidixic acid (ยาต้านแบคทีเรีย), Phenothiazines, Quinolone, Levofloxacin, Sulfonamides, Sulfonylureas, Tetracycline, Thiazides, และ Hydrochlorothiazide
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้กับอาหารที่มีไขมันสูง เพราะอาจทำให้ยานี้ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้น้อยลง
  • กรณีมีอาการวิงเวียนหลังรับประทานยานี้ ห้ามมิให้ผู้ป่วยขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ และ/หรือ ทำงานกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามใช้ครีมกันแดดทาผิวหนังภายใน 24 ชั่วโมงก่อนได้รับยาเมทอกซาเลน แต่ สามารถใช้ครีมกันแดดทาผิวหนังได้ หลังจากได้รับยาเมทอกซาเลนไปแล้ว 48 ชั่วโมง

โดยทั่วไป ยาเมทอกซาเลนอาจส่งผลข้างเคียงทำให้ผิวหนังเป็นปื้น/ผื่นแดงชั่วคราวรวมถึงมีอาการ คัน คลื่นไส้ กระสับกระส่าย และนอนไม่หลับ

*นอกจากนี้การได้รับยาเมทอกซาเลนเกินขนาด จะกระตุ้นให้เกิดอาการอาเจียนรุนแรงตามมาได้

เราสามารถพบเห็นการใช้ยาเมทอกซาเลนได้ในสถานพยาบาลที่ทำการรักษาโรคทางผิวหนัง ซึ่งผู้ป่วยควรต้องปฏิบัติและใช้ยาเมทอกซาเลนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อทำให้อาการป่วยดีขึ้นโดยเร็ว และเป็นการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้ยาเมทอกซาเลน

หลังการบำบัดรักษาด้วยยาเมทอกซาเลน ร่วมกับการฉายแสงยูวี หากอาการป่วยยังไม่ทุเลาหรือไม่ดีขึ้น แนะนำให้ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาอย่างต่อเนื่อง

เมทอกซาเลนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เมทอกซาเลน

  • บำบัดรักษาโรคสะเก็ดเงิน
  • รักษาอาการโรคด่างขาว

หมายเหตุ: เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการักษา การใช้ยานี้จึงควรต้องใช้ร่วมกับการฉายแสงยูวี

เมทอกซาเลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาเมทอกซาเลนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรม (DNA)ของเซลล์ผิวหนัง ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมดังกล่าว ทำให้เกิดการชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง จึงส่งผลลดการลุกลามของโรคผิวหนัง นอกจากนั้น แสงยูวีจะช่วยทำลายเซลล์ผิวหนังที่มีรอยโรคให้หลุดลอกเร็วขึ้น พร้อมกับกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังสร้างเม็ดสีเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยปกป้องเซลล์ผิวหนังให้แข็งแรง ร่วมถึงเป็นการบำบัดรักษาโรคด่างขาวด้วย จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เมทอกซาเลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมทอกซาเลนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/แคปซูล (10,000 ไมโครกรัม/แคปซูล)
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด (10,000 ไมโครกรัม/เม็ด)
  • ยาทาผิวหนัง ขนาดความเข้มข้น 0.75%

เมทอกซาเลนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเมทอกซาเลน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับบำบัดรักษาโรคสะเก็ดเงิน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 600 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก่อนการฉายรังสียูวีประมาณ 1.5 – 3 ชั่วโมง ทั่วไปจะทำการบำบัดรักษาด้วยยานี้อาทิตย์ละ 2 ครั้ง หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ข. สำหรับบำบัดโรคด่างขาว:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 20 มิลลิกรัม หรือ 600 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก่อนเข้ารับการฉายรังสียูวีประมาณ 2 – 4 ชั่วโมง ทั่วไปทำการบำบัดฯอาทิตย์ละ 2 ครั้ง หรือตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา

*อนึ่ง

  • ควรรับประทานยาเมทอกซาเลนหลังอาหาร
  • กรณีมีอาการคลื่นไส้หลังรับประทานยานี้ ให้แบ่งการรับประทานเป็น 2 ครั้ง โดยเว้นเวลาห่างกันประมาณ 30 นาที
  • เด็ก: ด้วยยานี้อาจก่อผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อเด็กได้ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็ก จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยานี้ชนิดทาผิวหนัง: ขนาดการใช้ยา ขึ้นกับแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเมทอกซาเลน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเมทอกซาเลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

โดยทั่วไป การใช้ยาเมทอกซาเลน จะกระทำในสถานพยาบาล มีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้กำกับการใช้ยา จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากๆที่ผู้ป่วยจะลืมรับประทานยา/ใช้ยานี้

เมทอกซาเลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมทอกซาเลนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังหลุดลอก ผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ หลอดเลือดบริเวณผิวหนังอักเสบ/เสียหาย เกิดภาวะสีผิวจาง ลมพิษ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ภาวะซึมเศร้า
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ การรับรสอาหารผิดปกติ คลื่นไส้
  • ผลต่อตา: เช่น อาจเกิดภาวะต้อกระจก

มีข้อควรระวังการใช้เมทอกซาเลนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้เมทอกซาเลน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือ แพ้แสงแดด
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมของสีผิว เช่น โรคผิวเผือก รวมถึงโรคที่ส่งผลให้ผิวหนังแพ้แสงแดดได้ง่าย อย่างเช่นโรค Lupus และ Porphyria
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • แจ้งแพทย์ถึงโรคประจำตัวต่างๆ รวมถึงมียาอื่นอะไรบ้าง ที่รับประทานอยู่ก่อน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • กรณีที่ได้รับการรักษาแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรหยุดการรักษาเอง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทอกซาเลนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เมทอกซาเลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมทอกซาเลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทอกซาเลนร่วมกับยากลุ่ม Hydantoins ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเมทอกซาเลนลดน้อยลงไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทอกซาเลนร่วมกับยา Cyclosporine ด้วยจะทำให้ผลข้างเคียงจากยาเมทอกซาเลนเพิ่มมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทอกซาเลนร่วมกับยา Atorvastatin, Triamterene(ยาขับปัสสาวะ), Methotrexate, Sulfadoxine, Sulfamethoxazole, ด้วยจะทำให้ผิวหนัง ไวต่อแสงแดดมากยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาเมทอกซาเลนอย่างไร?

ควรเก็บยาเมทอกซาเลน ในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงว่าง/ แสงแดดความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เมทอกซาเลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมทอกซาเลนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Meladinine (เมลาดินีน)CLS Pharma

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Oxsoralen, Deltasoralen

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugbank.ca/drugs/DB00553 [2016,Aug27]
  2. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-6957/methoxsalen-oral/details#images [2016,Aug27]
  3. http://www.stridesarco.com/pdf/products_spi/Methoxsalen_Capsules_USP_10mg_Pack_Insert_1026045.pdf [2016,Aug27]
  4. https://www.drugs.com/dosage/methoxsalen.html [2016,Aug27]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/methoxsalen/?type=brief&mtype=generic [2016,Aug27]