เมทฟอร์มิน ยาชะลอความแก่ตัวแรกของโลก (ตอนที่ 2)

เมทฟอร์มิน

เมทฟอร์มินทำงานด้วยการช่วยร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินที่ผลิตตามธรรมชาติได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่ตับสร้างและลำไส้ดูดซึม

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เมทฟอร์มินในผู้หญิงที่มีปัญหาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome = PCOS) มีความผิดปกติของรอบเดือน และเพิ่มโอกาสในการเจริญพันธุ์

ยาเมทฟอร์มินมีอยู่ในรูปของ

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาเม็ดออกฤทธิ์นาน (Extended Release Tablet)
  • ยาน้ำสารละลาย (Solution)

การใช้เมทฟอร์มินต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ โดยกินวันละ 1-3 ครั้งพร้อมอาหารและดื่มน้ำให้มาก ไม่ควรเคี้ยวหรือแบ่งเม็ดยา ควรกินยาในช่วงเวลาเดียวกันทุกวัน และเพื่อป้องกันผลข้างเคียง แพทย์อาจให้เริ่มกินเมทฟอร์มินทีละน้อยและค่อยๆ เพิ่มปริมาณยาตามลำดับ

กรณีที่ลืมกินยา ให้กินยาในมื้อถัดไปพร้อมอาหาร และควรเก็บรักษายาในอุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงและความชื้น อย่าเก็บยาในห้องน้ำ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เราอาจสังเกตุได้ถึงประสิทธิภาพของเมทฟอร์มินในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ใน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี การควบคุมจะได้ผลเต็มที่อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 เดือน

เนื่องจากเมทฟอร์มินอาจมีการทำปฏิกริยากับยาตัวอื่น ดังนั้นจึงต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่า ท่านกำลังกินยาอะไรอยู่บ้าง

โดยอาการแพ้ยาเมทฟอร์มินที่เกิดขึ้น ได้แก่

  • เป็นลมพิษ
  • หายใจลำบาก
  • หน้า ปาก ลิ้น หรือคอ บวม

ส่วนผลข้างเคียงของการใช้ยาที่เกิดขึ้นทั่วไป ได้แก่

  • อาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • อ่อนเพลีย
  • ปากมีรสของโลหะ (Metallic taste)

แหล่งข้อมูล

1. Metformin. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-11285-7061/metformin-oral/metformin---oral/details [2016, August30].

2. Metformin (Oral Route). http://www.webmd.com/drugs/2/drug-11285-7061/metformin-oral/metformin---oral/details [2016, August30].

3. Metformin. https://www.drugs.com/metformin.html [2016, August30].