เมซาลาซีน (Mesalazine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมซาลาซีน (Mesalazine) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Mesalamine หรือ 5-aminosalicylic acid จัดเป็นยาที่วงการแพทย์นำมาใช้รักษาอาการลำไส้อักเสบเรื้อรังเช่น การเกิดแผลอักเสบเรื้อรังของลำไส้ใหญ่/ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง และ Crohn’s disease ทั้งระดับเริ่มแรกจนถึงระดับ กลาง การออกฤทธิ์ของยาจะเกิดที่ผนังลำไส้ โดยมีการสร้างสมดุลของสารเคมีต่างๆซึ่งช่วยสนับ สนุนให้ส่วนที่มีการอักเสบของลำไส้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่พบเห็นตามสถานพยาบาลจะเป็นยาชนิดรับประทานและ ยาเหน็บทางทวารหนัก/ยาเหน็บทวาร โดยการดูดซึมยานี้จากการรับประทานอยู่ที่ประมาณ 20 - 30% หากเป็นยาเหน็บทวารหนักตัวยาจะถูกดูดซึมได้ในช่วงประมาณ 10 - 35% และตัวยาเมซาลาซีนจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีที่ผนังลำไส้เล็ก โดยยาที่ดูดซึมเข้ากระแสเลือดบาง ส่วนจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 40 - 80% ก่อนที่จะถูกส่งไปเผาผลาญที่ตับ ยาเมซาลาซีนยังซึมผ่านเข้าน้ำนมมารดาและผ่านเข้ารกได้เล็กน้อย จึงต้องระวังการใช้ยากับสตรีกลุ่มดัง กล่าว โดยทั่วไปร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 7 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาปริมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดก่อนที่จะผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาเมซาลาซีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้คือ สำหรับยาชนิดเม็ดแบบรับประทานจะถูกใช้เป็นยาทางเลือกกรณีที่ผู้ ป่วยแพ้กลุ่มยาซัลฟาตัวอื่นๆ และจัดให้ยาเมซาลาซีนอยู่ในหมวดยาอันตราย

ผู้ป่วยที่สามารถใช้ยานี้ได้ต้องไม่อยู่ในขอบข่ายที่ต้องเฝ้าระวังเช่น มีภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ ในช่วงเลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมมารดา ไม่เคยแพ้ยาชนิดนี้มาก่อน และร่างกายควรมีการทำงานของตับ - ไตเป็นปกติ ซึ่งการใช้ยานี้ที่ปลอดภัยควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น และห้ามผู้ป่วยซื้อยามาใช้เอง

เมซาลาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เมซาลาซีน

ยาเมซาลาซีนมีสรรพคุณคือ ใช้รักษาภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง

เมซาลาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมซาลาซีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อส่วนที่มีการอักเสบของลำไส้ โดยจะยับยั้งการสังเคราะห์และการหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเช่น Leukotriene ในระบบทางเดินอาหารจึงส่งผลให้มีฤทธิ์ของการรักษาเกิดขึ้น

เมซาลาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมซาลาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250, 400 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาผงชนิดรับประทาน ขนาด 1 และ 2 กรัม/ซอง
  • ยาน้ำเพื่อสวนทวาร ขนาดความเข้มข้น 1 กรัม/100 มิลลิลิตร
  • ยาเหน็บทวารหนัก ขนาด 1 กรัม/แท่ง (เม็ด)
  • ยาเหน็บทวารหนัก ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/แท่ง

เมซาลาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาเมซาลาซีนรวมถึงจะเลือกใช้ยาประเภทใดเช่น รับประทาน สวนทวารหนัก หรือ เหน็บทวารหนัก จะขึ้นกับตำแหน่งของลำไส้ที่เกิดอาการและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะการใช้ยานี้เป็นยารับประทานดังนี้เช่น

ก.สำหรับความดันโลหิตสูงและอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด:

  • ผู้ใหญ่: ปกติสามารถรับประทานได้ถึง 4 กรัม/วัน โดยแบ่งการรับประทานเป็น 2 - 3 ครั้ง ขนาดรับประทานเริ่มต้นอยู่ที่ 1.5 กรัม/วัน และแบ่งการรับประทานเป็น 2 - 3ครั้งเช่นกัน
  • เด็กที่อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป: รับประทาน 20 - 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่แนะนำแน่ชัดในการใช้และในขนาดยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*อนึ่ง สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้ ห้ามเคี้ยวยาขณะรับประทาน และควรดื่มน้ำตามให้พอเพียง/ให้มากๆ

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมซาลาซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเมซาลาซีนอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เมซาลาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมซาลาซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องอืด อ่อนแรง มีไข้ มีผื่นคันตามผิวหนัง เจ็บคอ ท้องเสีย ปวดตามข้อ วิงเวียน ปวดหลัง ท้องผูก กรวยไตอักเสบ และถ้าตรวจเลือดจะพบค่าเอนไซม์การทำงานของตับมีปริมาณเพิ่มขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้เมซาลาซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมซาลาซีนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเมซาลาซีน ยาซาลิไซเลต ยาซัลฟาซาลาซีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตหรือโรคตับระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยด้วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากเริ่มมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมซาลาซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เมซาลาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมซาลาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมซาลาซีนร่วมกับยา Digoxin ด้วยทำให้การดูดซึมของ Digoxin ลด น้อยลงจนอาจกระทบต่อประสิทธิภาพของการรักษา
  • การใช้ยาเมซาลาซีนร่วมกับยา Amikacin, Adefovir, Aspirin, Ibuprofen, Salsalate, Tenofovir อาจทำให้เกิดภาวะไตทำงานผิดปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาเมซาลาซีนร่วมกับยา Warfarin อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของ Warfarin ด้อยลงไปและสามารถเกิดภาวะเลือดจับตัวข้นขึ้น สังเกตได้จากมีอาการเจ็บหน้าอก อึดอัดหายใจ ไม่ออก/หายใจลำบาก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาเมซาลาซีนร่วมกับยา Mercaptopurine (ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย) จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากยา Mercaptopurine มากยิ่งขึ้นเช่น เกิดภาวะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย มีภาวะเลือดออกง่าย มีไข้ หนาวสั่น เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวแพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลๆไป

ควรเก็บรักษาเมซาลาซีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเมซาลาซีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่ แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เมซาลาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมซาลาซีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Mesacol (เมซาคอล) Sun Pharma
Pentasa (เพนทาซา) Ferring
Salofalk (ซาโลฟลัก) Falk

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Mesalazine [2015,June6]
2. http://www.patient.co.uk/medicine/mesalazine [2015,June6]
3. http://www.mims.com/USA/drug/info/mesalazine/mesalazine?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,June6]
4. http://www.mhra.gov.uk/home/groups/spcpil/documents/spcpil/con1384754966518.pdf [2015,June6]
5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/22#item-8365 [2015,June6]
6. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=mesalazine [2015,June6]
7. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Salofalk/?type=brief [2015,June6]
8. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Pentasa/?type=brief [2015,June6]
9. http://www.drugs.com/drug-interactions/mesalamine-index.html?filter=3&generic_only= [2015,June6]