เฟนโพรคูมอน (Phenprocoumon)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเฟนโพรคูมอน (Phenprocoumon) เป็นยาในกลุ่มวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ (Vitamin K antagonist) มีฤทธิ์ต่อต้านการแข็งตัวของเลือดโดยใช้กลไกปิดกั้น การสังเคราะห์สารประกอบที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการรวมตัวของเกล็ดเลือด เช่น Factor II, Factor VII, Factor IX, และ Factor X รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาชนิดนี้/ยานี้เป็นแบบรับประทาน ตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้เกือบ 100% ระหว่างที่ออกฤทธิ์ตัวยาส่วนหนึ่งจะถูกลำเลียงไปทำลายทิ้งโดยตับ ยาเฟนโพรคูมอนในร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5–6 วันเพื่อสลายตัวเองก่อนถูกขับทิ้งออกจากกระแสเลือด ยานี้มีกลไกต่อต้านการแข็งตัวของเลือดโดยเข้ารบกวนการทำงานของวิตามิน เค ซึ่งกลไกดังกล่าวมีความแตกต่างจากยาเฮพาริน(Heparin) โดยยาเฟนโพรคูมอนไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ในทันที ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาเฟนโพรคูมอนตามคำสั่งแพทย์อย่างต่อเนื่อง และยานี้จะออกฤทธิ์ต่อต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างเต็มที่ในวันที่ 4–6 หลังการรับประทาน

สำหรับข้อจำกัดการใช้ยาเฟนโพรคูมอน ซึ่งทำให้แพทย์ไม่สามารถใช้ยาเฟนโพรคูมอนกับผู้ป่วยบางกลุ่ม มีดังนี้ เช่น

  • เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะเลือดออกง่าย
  • ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคไตวาย ผู้ที่มีบาดแผลในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยด้วยเยื่อบุหัวใจอักเสบ
  • ผู้ป่วยที่เพิ่งรับการผ่าตัดเส้นประสาท ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะติดสุราอย่างหนัก ด้วยตัวยาชนิดนี้สามารถเสริมฤทธิ์กับ แอลกอฮอล์จึงส่งผลเกิดการทำลายเซลล์ตับตามมา
  • สตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายประเภท ซึ่งรวมถึงยาเฟนโพรคูมอนด้วยเช่นกัน ยาชนิดนี้สามารถส่งผ่านจากมารดาไปยังทารก ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะวิกลรูปขึ้นได้

ยาเฟนโพรคูมอนยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางประการที่รุนแรงจนผู้ป่วยต้องหยุดการใช้ยานี้ อย่างเช่น ทำให้เนื้อเยื่อของผิวหนังบางส่วนตายลง การทำงานของตับผิดปกติหรือเกิดภาวะตับอักเสบ เกิดผื่นคันตามร่างกาย หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะผมร่วงร่วมด้วย หากพบเห็นอาการข้างเคียงดังกล่าวหลังใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

เฟนโพรคูมอนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เฟนโพรคูมอน

ยาเฟนโพรคูมอนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดและป้องกันภาวะหลอดเลือดเกิดลิ่มเลือด
  • บำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจวายเพราะขาดเลือด
  • ใช้ป้องกันสมองขาดเลือด(Ischemic stroke) กับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial fibrillation)

เฟนโพรคูมอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ทั่วไป กลไกการแข็งตัวของเลือดจะมีวิตามิน เค (Vitamin K) เป็นตัวกระตุ้นสารชีวโมเลกุลต่างๆที่เป็นปัจจัยในการแข็งตัวของเลือด เช่น แฟคเตอร์ ทู (Factor II), แฟคเตอร์ เซเว่น (Factor VII), แฟคเตอร์ ไนน์ (Factor IX), แฟคเตอร์ เทน (Factor X), Protein S, Protein C, และ Protein Z สารชีวโมเลกุลเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นกลไกการรวมตัวของเกล็ดเลือดและขององค์ประกอบอื่นๆในเลือดจนเกิดเป็นลิ่มเลือดขึ้นมา หลังจากวิตามิน เค ทำหน้าที่กระตุ้นสารชีวโมเลกุล ตัวมันจะถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่ไม่ออกฤทธิ์ ร่างกายจะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Vitamin K epoxide reductase ซึ่งเอนไซม์นี้จะกระตุ้นให้วิตามิน เคในรูปที่ไม่สามารถออกฤทธิ์เปลี่ยนไปเป็นวิตามิน เคที่สามารถออกฤทธิ์และทำงานได้อีก

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเฟนโพรคูมอนคือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของ Vitamin K epoxide reductase ทำให้วิตามิน เคไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ส่งผลให้กระบวนการรวมตัวของเกล็ดเลือด หรือกระบวนการการแข็งตัวของเลือดถูกยับยั้ง จึงก่อให้เกิดประโยชน์ทางคลินิกตามสรรพคุณ

เฟนโพรคูมอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเฟนโพรคูมอนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Phenprocoumon ขนาด 3 มิลลิกรัม/เม็ด

เฟนโพรคูมอนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

การใช้ยาเฟนโพรคูมอน ย่อมขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการรักษา เช่น ใช้เพื่อป้องกันหรือใช้บำบัดอาการ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายยานี้ได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด

ตัวอย่างการรับประทานยาเฟนโพรคูมอน มีดังนี้ เช่น

  • ผู้ใหญ่: วันแรกรับประทานยา 15 มิลลิกรัม (5 เม็ด) ครั้งเดียว; วันที่2 รับประทานยา 9 มิลลิกรัม (3 เม็ด); ในวันถัดมาแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้ผู้ป่วยเอง; ขนาดยานี้ที่ใช้คงระดับของการรักษาอยู่ที่ 1.5–6 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกถึงความปลอดภัยและขนาดยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ แพทย์อาจต้องปรับขนาดการใช้ยาลดลง
  • การใช้ยาชนิดนี้ให้เกิดประสิทธิผล ผู้ป่วยจะต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง ตรงตามขนาดและเวลาที่แพทย์กำหนด อาจต้องรับประทานยาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน การหยุดใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามที่แพทย์กำหนด ห้ามผู้ป่วยหยุดการใช้ยาเองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเฟนโพรคูมอน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเฟนโพรคูมอน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเฟนโพรคูมอน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

แต่เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเฟนโพรคูมอน ตรงขนาดและเวลาตามคำสั่งแพทย์

เฟนโพรคูมอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายที่อาจเกิดจากการใช้ยาเฟนโพรคูมอนมีดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเลือดออกง่าย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะเนื้อเยื่อของผิวหนังบาดเจ็บหรือตายลง มีเลือดออกใต้ผิวหนัง อาจพบภาวะผมร่วง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน

*กรณีได้รับยานี้เกินขนาด จะพบอาการอุจจาระมีสีคล้ำด้วยมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด เกิดดีซ่าน มีเลือดออกง่ายตามร่างกาย ตับอ่อนอักเสบ หากพบเห็นผู้ป่วยที่ได้รับยานี้เกินขนาด ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้เฟนโพรคูมอนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟนโพรคูมอน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมาใหม่ๆ
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุรา
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร-ลำไส้ ผู้ที่มีบาดแผลตามร่างกาย ผู้ป่วยติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้เกิดบาดแผลตามร่างกาย
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาโรงพยาบาล/มาตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเฟนโพรคูมอนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เฟนโพรคูมอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเฟนโพรคูมอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเฟนโพรคูมอนร่วมกับยาMetformin ด้วยจะทำให้ร่างกายมีอัตราการกำจัดยาเฟนโพรคูมอนเพิ่มขึ้นจนเป็นผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาเฟนโพรคูมอนด้อยลง
  • การใช้ยาเฟนโพรคูมอนร่วมกับยาMeticillin อาจทำให้การออกฤทธิ์ของยา เฟนโพรคูมอนมากขึ้นกว่าเดิมจึงเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้นตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเฟนโพรคูมอนร่วมกับยาNelfinavir ด้วยจะทำให้การทำลายของยาเฟนโพรคูมอนในร่างกายทำได้น้อยลงจนส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาเฟนโพรคูมอนมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาเฟนโพรคูมอนร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอย่าง Progesterone ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของยาเฟนโพรคูมอนด้อยลง

ควรเก็บรักษาเฟนโพรคูมอนอย่างไร?

ควรเก็บยาเฟนโพรคูมอน ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เฟนโพรคูมอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเฟนโพรคูมอน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Marcumar (มาร์คูมาร์)MEDA Pharma
Marcuphen-CT (มาร์คูเฟน-ซีที)AbZ-Pharma
Phenpro AbZ (เฟนโพร เอบีซีท)AbZ-Pharma
Phenpro-ratiopharm (เฟนโพร-เรทิโอฟาร์ม)ratiopharm
Phenprogamma (เฟนโพรแกมมา)Worwag Pharma
Phenprolys (เฟนโพรลีส์)Dermapharm

บรรณานุกรม

    1. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_K_antagonist [2018,May12]
    2. https://www.drugs.com/international/phenprocoumon.html [2018,May12]
    3. https://vardgivarwebb.regionostergotland.se/pages/233476/Marcoumar%202000.pdf [2018,May12]
    4. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00946 [2018,May12]
    5. http://www.druginfosys.com/drug.aspx?drugcode=2056&type=1 [2018,May12]