เฟนิรามีน (Pheniramine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเฟนิรามีน(Pheniramine หรือ Pheniramine maleate) เป็นยาต่อต้านสารฮีสตามีน/ ยาแก้แพ้(Antihistamine) และมีฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของสารสื่อประสาทประเภทแอซิติลโคลีน(Acetylcholine) ที่มีในสมองรวมถึงปลายเส้นประสาท ทางคลินิกนำยานี้มารักษาอาการแพ้ต่างๆ อาทิ ไข้ละอองฟาง (Hay fever) น้ำมูลไหล จาม ผื่นคัน ผื่นบวมแดง ลมพิษ ระคายเคืองดวงตา/เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น และบางกรณีประชาชนก็หาซื้อยาชนิดนี้/ยานี้มารับประทานเองแทนยานอนหลับ เพราะยานี้มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนด้วย

ในตลาดยาเรามักจะไม่พบเห็นการจำหน่ายยาเฟนิรามีนแบบยาเดี่ยวๆเท่าใดนัก แต่จะเป็นสูตรตำรับผสมร่วมกับยาอื่น รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเฟนิรามีนมีหลากหลาย เช่น เป็นยารับประทาน ยาฉีด ยาใช้เฉพาะที่ อย่างเช่น ยาหยอดตา หรือยาพ่นจมูก

ยาเฟนิรามีน มีข้อห้ามใช้และข้อควรปฏิบัติบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรเรียนรู้ทำความเข้าใจโดยเฉพาะในสูตรตำรับของยารับประทานและยาฉีด อย่างเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับกลุ่มยา MAOIs
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต ด้วยจะทำให้อาการของต่อมลูกหมากโตรุนแรงขึ้น
  • ห้ามใช้กับเด็กทารกหรือเด็กแรกเกิด
  • ห้ามรับประทานยาเฟนิรามีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพราะจะทำให้เกิดอาการ วิงเวียนและง่วงนอนอย่างรุนแรง และก่อให้เกิดความเสี่ยง ต่อภาวะลมชักได้ง่าย
  • ด้วยยาเฟนิรามีนสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร การรับประทานยานี้พร้อมอาหาร จะช่วยลดผลข้างเคียงดังกล่าวได้ระดับหนึ่ง
  • กรณีใช้ยาเฟนิรามีนแบบรับประทานเพื่อเป็นยาป้องกันอาการเมารถ-เมาเรือจะต้องรับประทานยานี้ล่วงหน้าประมาณ 30 นาที ก่อนออกเดินทาง
  • *ห้ามรับประทานยานี้เกินคำสั่งแพทย์(Overdosage) เพราะจะทำให้มีอาการ กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิในการควบคุมตัวเอง เกิดประสาทหลอน ความดัน โลหิตต่ำ กรณีของเด็กถ้าได้รับยานี้เกินขนาด จะทำให้เกิดอาการลมชักตามมา

    ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ต้านพิษของยาเฟนิรามีน การช่วยเหลือแพทย์กรณีผู้ป่วยได้รับยาเฟนิรามีนเกินขนาด แพทย์อาจต้องใช้วิธีล้างท้อง และตัวยา Diazepam และกลุ่มยา Bariturates ที่มีการออกฤทธิ์เพียงระยะสั้นๆอาจถูกนำมาช่วยควบคุมอาการลมชักที่เกิดจากยาเฟนิรามีนเกินขนาด

  • ห้ามใช้ยาเฟนิรามีนในรูปแบบยาหยอดตากับผู้ป่วยโรคต้อหิน ด้วยจะทำให้อาการของโรคต้อหินกำเริบรุนแรงขึ้น

สำหรับประเทศไทย จะพบการใช้ยาเฟนิรามีน ในสูตรตำรับยาหยอดตา แต่ต่างประเทศจะมีการจัดจำหน่ายเป็นยารับประทาน ทั้งชนิดเม็ด และชนิดน้ำเชื่อมภายใต้ชื่อการค้าว่า “Avil”

อนึ่ง หากมีข้อซักถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาเฟนิรามีน ผู้บริโภคสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่สั่งจ่ายยาชนิดนี้ หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป

เฟนิรามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เฟนิรามีน

ยาเฟนิรามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

ก.ในรูปแบบยารับประทาน:

  • ใช้รักษาโรคไข้ละอองฟาง
  • ใช้บรรเทาอาการ ลมพิษ ผื่นแดง หรือ ผื่นคันตามผิวหนัง
  • ใช้ป้องกันอาการเมารถ-เมาเรือ

ข. ในรูปแบบยาหยอดตา:

  • ใช้หยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองหรือการแพ้ที่เกิดขึ้นกับดวงตา เช่น เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้

เฟนิรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเฟนิรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์ตรงบริเวณตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อว่า Histamine 1 (H1-receptor) ตัวรับดังกล่าวจะอยู่ตามผนังเซลล์ของอวัยวะที่มีอาการแพ้ เช่น ผิวหนัง เนื้อเยื่อในจมูก เยื่อตา โดยตัวยาจะเข้าแข่งขันและปิดกั้นมิให้สารฮีสตามีน/Histamineเข้าจับกับ H1-receptor เป็นผลให้ กระบวนการกระตุ้นอาการแพ้จากHistamine ถูกยับยั้ง จึงทำให้อาการแพ้ต่างๆบรรเทาเบาบางลง

เฟนิรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเฟนิรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน ที่ประกอบด้วย Pheniramine maleate ขนาด 75 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์ทันทีที่ประกอบด้วย Pheniramine maleate ขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำเชื่อมชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Pheniramine maleate ขนาด 15 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Pheniramine maleate ขนาด 45.5 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
  • ยาหยอดตาที่ประกอบด้วย Pheniramine maleate 0.3% + Naphazoline HCl 0.025%

เฟนิรามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเฟนิรามีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับอาการแพ้จาก ไข้ละอองฟาง ผื่นคัน และลมพิษ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาชนิดน้ำเชื่อมขนาด 15–30 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง หรือรับประทานยาเม็ดได้ถึง 45 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า–กลางวัน–เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 5–10 ปี: รับประทานยาเม็ดขนาดครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ วันละ 3 ครั้ง เช้า–กลางวัน–เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป: รับประทานยาชนิดน้ำเชื่อมขนาด 15–30 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง หรือ รับประทานยาเม็ดขนาดครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ วันละ 3 ครั้งเช้า–กลางวัน–เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี: การใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับป้องกันอาการ เมารถ-เมาเรือ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาชนิดน้ำเชื่อมขนาด 15–30 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง หรือ รับประทานยาเม็ดได้ถึง 45 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า–กลางวัน–เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยรับประทานยาก่อนออกเดินทาง ประมาณ 30 นาที
  • เด็กอายุ 5–10 ปี: รับประทานยาเม็ดขนาดครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ วันละ 3 ครั้ง เช้า–กลางวัน–เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน รับประทานยาก่อนออกเดินทาง 30 นาที
  • เด็กอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป: รับประทานยาชนิดน้ำเชื่อมขนาด 15–30 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง หรือรับประทานยาเม็ดขนาดครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ วันละ 3 ครั้งเช้า–กลางวัน–เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยรับประทานยาก่อนออกเดินทางประมาณ 30 นาที
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี: การใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

ค. สำหรับอาการแพ้ที่ตา/เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ (ใช้สูตรตำรับ Pheniramine 0.3% + Naphazoline 0.025%)

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป หยอดตาข้างที่มีอาการแพ้ 1-2 หยด ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง
  • เด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีลงมา: การใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ระยะเวลาการใช้ยาให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเฟนิรามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเฟนิรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/หยอดตาด้วยยา เฟนิรามีน สามารถรับประทาน/หยอดตาทันทีที่นึกขึ้น ได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/หยอดตาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยา/หยอดยาที่ขนาดปกติ

เฟนิรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเฟนิรามีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง จุก/แน่นตรงลิ้นปี่ ปากแห้ง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน หูอื้อ ขาดสมาธิ ตัวสั่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า รูม่านตาขยาย ความดันตาสูง ตาแดง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือด/ กดไขกระดูก โลหิตจาง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ :เช่น ปัสสาวะขัด

มีข้อควรระวังการใช้เฟนิรามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟนิรามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
  • กรณีเกิดอาการวิงเวียนหลังรับประทานยานี้ ห้ามขับขี่หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเฟนิรามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เฟนิรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเฟนิรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเฟนิรามีนร่วมกับ ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycoside ด้วยจะทำให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อระบบประสาทการได้ยินของผู้ป่วย/หูหนวก
  • ห้ามใช้ยาเฟนิรามีนร่วมกับกลุ่มยา MAOI , Atropine, และ TCA , ด้วยจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท หรือที่เรียกว่า Antimuscarinic effect (ต้านการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเฟนิรามีนร่วมกับยากลุ่ม Opioids , Barbiturates ด้วยจะก่อให้เกิดฤทธิ์กดการทำงานของสมอง เช่น ง่วงนอนมาก

ควรเก็บรักษาเฟนิรามีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเฟนิรามีน ดังนี้ เช่น

  • กรณียาชนิดรับประทาน: เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • กรณียาหยอดตา: เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส
  • กรณียานี้ทุกรูปแบบ: ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และ ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เฟนิรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเฟนิรามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Avil (เอวิล)Sanofi aventis
Avil retard dragees (เอวิล รีทาร์ด ดรากีส์) Sanofi aventis
Naphcon-A (นาฟคอน-เอ)Alcon

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pheniramine[2017,Dec.9]
  2. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01620[2017,Dec.9]
  3. https://web.archive.org/web/20090806154413/http://www.racgp.org.au/cmi/swcavilt.pdf[2017,Dec.9]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/pheniramine/?type=brief&mtype=generic[2017,Dec.9]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/naphazoline%20%2b%20pheniramine/?type=brief&mtype=generic[2017,Dec.9]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/naphcon-a/[2017,Dec.9]
  7. Downloads/2B42B201-ECC7-4BDB-A6DE-27DAF1B84854.pdf[2017,Dec.9]
  8. Downloads/AD0A4902-C176-417A-96AB-A0E65FC5B2F3.pdf[2017,Dec.9]