เพียงเหล้า เข้าปาก (ตอนที่ 1)

อนุสนธิข่าวเด่นเมื่อวาน นายแพทย์ศิริชัย ภัทรนุธาพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ลำปาง สรุปผลว่า แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ที่ดื่มเหล้าในปริมาณไม่มากจะรู้สึกผ่อนคลาย เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปกดจิตใต้สำนึกที่คอยควบคุมตนเองอยู่ แต่เมื่อดื่มมากขึ้นก็จะกดสมองบริเวณอื่นๆ ทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด จนแม้กระทั่งหมดสติในที่สุด

ในหลายๆ ประเทศ ผู้คนดื่มแอลกอฮอล์เมื่อรับประทานอาหารกลางวันและอาหารเย็น การศึกษาวิจัยพบว่า หากรับประทานอาหารก่อนดื่มแอลกอฮอล์ การดูดซึมของแอลกอฮอล์จะลดลง และอัตราที่แอลกอลฮอล์จะถูกขับออกจากเลือดจะสูงขึ้น กลไกลของการขับแอลกอฮอล์ที่เร็วขึ้น ดูเหมือนจะไม่มีความสัมพันธ์กับชนิดของอาหารที่รับประทาน แต่กลไกที่เป็นไปได้มาก ก็คือความสัมพันธ์ของเอนไซม์ของตับในการสันดาปแอลกอฮอล์

หลายๆ ครั้งในสถานสาธารณะที่ไม่ถูกสุขอนามัย (อาทิ ในยุโรปสมัยกลาง) การดื่มแอลกอฮอล์ (โดยเฉพาะเบียร์และไวน์) เป็นวิธีหลีกเลี่ยงโรคที่เกิดจากน้ำ (Water-borne) โดยดื่มแอลกอฮอล์แทน อาทิ อหิวาตกโรค แม้ว่าแอลกอฮอล์จะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่การมีความเข้มข้นต่ำในเบียร์และไวน์ จะจำกัดผลในการฆ่าเชื้อดังกล่าว การใช้น้ำเดือดในการต้มกลั่น และการเติบโตของยีสต์ในการหมัก [ในเหล้า] อาจจะฆ่าจุลินทรีย์ที่อันตรายได้

ปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มมึนเมา สามารถเก็บกักได้เป็นเดือนหรือปี ในภาชนะที่เป็นไม้หรือดินเหนียวโดยไม่ทำให้เน่าเสีย จึงมักเก็บไว้ในเรือใหญ่เดินทะเล เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำคัญ (หรือแหล่งเดียวเท่านั้น) สำหรับกะลาสี โดยเฉพาะระหว่างเดินเรือที่ยาวนานในช่วงแรกของยุคสมัยใหม่

ผลกระทบระยะสั้นของการดื่มแอลกอฮอล์ ก็คือความมึนเมา (Intoxication) และการขาดน้ำ (Dehydration) ส่วนผลกระทบในระยะยาว ได้แก่การเปลี่ยนแปลงทางเคมี (Metabolism) ของเนื้อเยื่อในตับและสมอง รวมทั้งโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) ซึ่งเป็นผลจากการเสพติดแอลกอฮอล์

การมึนเมาจากแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อสมอง ต่อการพูด การเดินเหินที่งุ่มง่าม และการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆช้าลง นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังกระตุ้นการผลิตสารอินซูลิน (Insulin) ในตับอ่อน ซึ่งเร่งการเผาผลาญน้ำตาล (Glucose) และยังผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ก่อให้เกิดการกระสับกระส่าย และอาจถึงแก่ความตายสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ส่วนพิษสุราร้ายแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

ระดับแอลกอฮอล์ที่ทำให้คนทั่วไปมึนเมาอยู่ที่ 0.08% แต่การอาเจียน หรือหมดสติอาจเกิดเร็วขึ้นในผู้ที่มีความทนทานต่อแอลกอฮอล์ต่ำ ในผู้ที่มีความทนทานต่อแอลกอฮอล์สูงซึ่งมักดื่มเหล้าจัดจนเรื้อรัง อาจยังคงมีสติอยู่ ณ ระดับแอลกอฮอร์ที่สูงกว่า 0.40% แต่มักมีปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ดังนั้น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระดับ 0.45% ซึ่งสูงเกือบ 6 เท่าของระดับที่ทำให้คนทั่วไปมึนเมา จึงเป็นระดับที่ฆ่าชีวิตคนได้

แอลกอฮอล์จำกัดการผลิต ฮอร์โมน Vasopressin จากสมองใหญ่ส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) และการหลั่งของฮอร์โมนนี้ จากต่อมใต้สมองส่วนหลัง (Posterior pituitary gland) ซึ่งฮอร์โมนนี้เป็นตัวควบคุมปริมาณปัสสาวะ จึงเป็นสาเหตุของการขาดน้ำที่รุนแรงเมื่อดื่มปริมาณแอลกอฮอล์เข้าไปมาก จากการปัสสาวะอย่างมากมาย นอกจากนี้ การสูญเสียน้ำยังเพิ่มมากขึ้นอีก จากการอาเจียน จึงก่ออาการกระหายน้ำอย่างหนัก ร่วมกับอาการเมาค้าง

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.เตือนประชาชนดื่มสุราไม่ช่วยคลายหนาว http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000157254&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, December 26].
  2. Alcohol beverage. http://en.wikipedia.org/wiki/Alcoholic_beverage [2011, December 26].