เพอร์เฟนาซีน (Perphenazine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

เพอร์เฟนาซีน (Perphenazine) คือ ยาจิตเวชในกลุ่มยา ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine),  ทางคลินิก นำมาใช้รักษาอาการโรคจิตชนิดโรคจิตเภท (Schizophrenia),  อาการไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder), รวมถึงอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง, รูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็น ยารับประทาน และยาฉีด, โดยตัวยาฯจะออกฤทธิ์ที่สมองส่วนที่เรียกว่า‘ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus)’

ยาเพอร์เฟนาซีน มีฤทธิ์บำบัดอาการทางจิตในระดับกลาง แต่จะมีฤทธิ์แรงกว่ายา Chlopromazine ถึงประมาณ 5 เท่า การใช้ยานี้ในขนาดต่ำสามารถบำบัดอาการซึมเศร้าได้และอาจใช้ร่วมกับยาต้านเศร้าชนิดอื่น, ข้อดีประการหนึ่งของยานี้คือ สามารถหยุดการใช้ยาได้เร็วกว่ายาต้านเศร้าอื่นๆ, ยาเพอร์เฟนาซีนยังถูกนำไปบำบัดอาการวิตกกังวล, และใช้เป็นยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียดในผู้ป่วยที่มีประวัติติดสุราหรือยาเสพติดอีกด้วย

ยาเพอร์เฟนาซีน สามารถใช้ได้ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก), หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร, ตัวยาจะเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 60 - 80%, ตับจะคอยทำลายโครงสร้างโมเลกุลของยาเพอร์เฟนาซีนอย่างต่อเนื่อง,ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 8 - 12 ชั่วโมงหรืออาจมากกว่า 20 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ยาเพอร์เฟนาซีน เป็นหนึ่งรายการยาที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และมักพบเห็นการใช้ในรูปแบบของยาเม็ดชนิดรับประทาน  

ยาเพอร์เฟนาซีนเป็นยาที่มีประโยชน์ทางคลินิกอย่างมาก, อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถใช้ยานี้กับผู้ป่วยบางกลุ่มได้ หรืออาจต้องใช้ยานี้โดยเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น

  • แพทย์จะไม่ใช้ยากับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเพอร์เฟนาซีนมาก่อน
  • ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง ผู้ที่อยู่ในภาวะง่วงนอนอย่างรุนแรง ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับ ระบบเลือดในร่างกาย ผู้ป่วยที่มีตับทำงานผิดปกติ และผู้ป่วยที่ไขกระดูกทำงานได้ไม่เต็มที่, ล้วนแล้วถือเป็นข้อห้ามต่อการใช้ยาเพอร์เฟนาซีนทั้งสิ้น
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะติดสุรา รวมถึงผู้ที่มีการรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง และทำให้รู้สึกง่วงนอนอย่างมาก เช่นยา Barbiturates หรือ Codeine, ก็อยู่ในขอบข่ายที่ห้ามใช้ยาเพอร์เฟนาซีนเช่นกัน
  • สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องให้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากต่อการใช้ยาทุกประเภทซึ่งรวมยาเพอร์เฟนาซีนด้วย
  • ควรต้องเพิ่มความระมัดระวังหากต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็น โรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดต่างๆ  ความดันโลหิตสูงหรือความดันโลหิตต่ำ เบาหวาน ต่อมลูกหมากโต โรคลมชัก ปัสสาวะขัด เนื้องอกฟีโอโครโมไซโตมา โรคหืด โรคต้อหิน ความจำเสื่อม/สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน โรคมะเร็งต่างๆ (เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งสมอง)

ยาเพอร์เฟนาซีน ยังสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ได้เหมือนกับยาอื่นทั่วไป เช่น อาจทำให้มีอาการท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย  วิงเวียน และ ง่วงนอน  

*กรณีที่มีการใช้ยาเพอร์เฟนาซีนเกินขนาด สามารถสังเกตได้จากอาการของผู้ป่วย เช่น รู้สึกสับสน หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นช้าไม่เป็นปกติ สูญเสียการครองสติ มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งตัว กระสับกระส่าย เกิดอาการลมชัก  ท้องผูกรุนแรง ปวดท้อง ง่วงนอนมาก วิงเวียน ปัสสาวะขัดจน โคม่า หากพบอาการเหล่านี้ *ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์โดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

ยาเพอร์เฟนาซีน จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย, มีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังมากมาย, การใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น, ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรที่ประจำในสถานพยาบาลหรือร้านขายยาได้โดยทั่วไป

เพอร์เฟนาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาเพอร์เฟนาซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดอาการทางจิตประสาท/โรคจิต (Psychosis)
  • บำบัดอาการคลื่นไส้อาเจียนในระดับรุนแรง

เพอร์เฟนาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาเพอร์เฟนาซีน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของตัวรับ (Receptor) ในสมองที่มีชื่อว่า ‘โพสไซแนปติก เมโสลิมบิก โดพามิเนอร์จิก รีเซพเตอร์ (Postsy naptic mesolimbic dopaminergic receptors)’ ส่งผลยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาทของสมองส่วนไฮโปธาลามัส รวมถึงฮอร์โมนบางตัว เช่น ไฮโปไฟเซียล ฮอร์โมน (Hypophyseal hormones), ด้วยกลไกเหล่านี้ อาจใช้เป็นเหตุผลทางคลินิกที่ช่วยทำให้อาการของผู้ป่วยที่ได้รับยานี้อาการดีขึ้น

เพอร์เฟนาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพอร์เฟนาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2, 4, 8 และ 16 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร, และขนาด 16 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

เพอร์เฟนาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเพอร์เฟนาซีนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับบำบัดอาการทางจิตประสาท: เช่น  

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานยา 4 - 8 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • เด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป : เช่น  รับประทานยา 4 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

ข. สำหรับบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนในระดับที่รุนแรง: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานยา 8 - 16 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานก่อนหรือพร้อมอาหาร, และไม่ควรใช้ยาเกิน 24 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทานยา 8 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*อนึ่ง:

  • แพทย์จะปรับขนาดรับประทานยานี้ให้น้อยลงเท่าที่สามารถกระทำได้
  • ขนาดรับประทานในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีลงมา: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยในการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเพอร์เฟนาซีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือขึ้นผื่น แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเพอร์เฟนาซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเพอร์เฟนาซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเพอร์เฟนาซีนตรงเวลา

เพอร์เฟนาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพอร์เฟนาซีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อการทำงานของระบบประสาท: เช่น อาจทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายทำได้ช้าลงกว่าเดิม ปวดตามแขน-ขา  เกิดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลังจนหลังแอ่น เกิดขากรรไกรแข็ง เกิดอาการคอบิดเกร็ง เกิดอาการชาตามแขน-ขา พูดจาไม่ชัด  มีอาการเดินเซ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก  เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด  กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ(เช่น ปัสสาวะถี่/บ่อย) ในเพศชายอาจมีภาวะองคชาตแข็งค้าง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดภาวะหอบหืด คัดจมูก หายใจไม่ออก/หายใจลำบากจนอาจถึงตายทันที
  • ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาขยาย ตาพร่า เกิดภาวะต้อหิน
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น มีความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นช้ากว่าปกติ หัวใจหยุดเต้น ชีพจรเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจีผิดปกติ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผด ผื่นคัน และลมพิษ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดอาการน้ำนมไหล มีภาวะเต้านมโตทั้งชายและหญิง การหลั่งอสุจิเป็นไปได้ลำบาก ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือไม่ก็ต่ำ ประจำเดือนผิดปกติ เมื่อตรวจปัสสาวะอาจพบมีน้ำตาลปนมากับปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง และ *หากตรวจซีบีซี /CBC แล้วพบภาวะกดไขกระดูก  ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด
  • ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น พบภาวะดีซ่านซึ่งอาจพบได้ในสัปดาห์ที่ 2-4 หลังจากการใช้ยานี้

มีข้อควรระวังการใช้เพอร์เฟนาซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพอร์เฟนาซีน: เช่น    

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีลงมา และ ผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้เกินจากคำสั่งแพทย์
  • ระวังการเกิดภาวะ เม็ดเลือดขาวต่ำ  เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ และเม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดหรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน ด้วยสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด
  • *ยานี้จะทำให้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองชนิดโปรแลกตินเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลให้มี อาการน้ำนมไหล และเกิดภาวะเต้านมโต, หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ก่อนนัด
  • ยาเพอร์เฟนาซีน อาจทำให้การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อของร่างกายเสียสมดุล(เช่น เดินเซ ชัก) โดยเฉพาะการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุและสตรี, ถึงแม้จะเพิ่งใช้ยานี้โดยเริ่มจากการรับประทานขนาดต่ำๆแล้วก็ตาม, หากมีภาวะดังกล่าว ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับวิธีการรักษา
  • หากพบอาการวิงเวียนหลังใช้ยานี้ ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ         

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพอร์เฟนาซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เพอร์เฟนาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพอร์เฟนาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพอร์เฟนาซีน ร่วมกับยา Propoxyphene ด้วยสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยาแต่ละตัวได้มากยิ่งขึ้น เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ง่วงนอนมาก วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม จนถึงมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพอร์เฟนาซีน ร่วมกับยา Tramadol ด้วยจะสุ่มเสี่ยงต่อภาวะเกิดลมชัก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป 
  • การใช้ยาเพอร์เฟนาซีน ร่วมกับยา Moxifloxacin อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเป็น อันตรายต่อผู้ป่วยได้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานยาเพอร์เฟนาซีน ร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้การควบคุมการทรงตัวของร่างกายเสียไป อาจเกิดภาวะชัก และวิงเวียนอย่างรุนแรง เป็นลม หัวใจเต้นผิดปกติ จนถึงขั้นโคม่าได้

ควรเก็บรักษาเพอร์เฟนาซีนอย่างไร

ควรเก็บยาเพอร์เฟนาซีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เพอร์เฟนาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพอร์เฟนาซีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Conazine (โคนาซีน) Condrugs
Pernamed (เพอร์นาเมด) Medifive
Pernazine (เพอร์นาซีน) Atlantic Lab
Perzine-P (เพอร์ซีน-พี) P P Lab
Porazine (โพราซีน) Pharmasant Lab

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Phenothiazine  [2022,Dec3]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Perphenazine   [2022,Dec3]
  3. https://www.drugs.com/dosage/perphenazine.html  [2022,Dec3]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/perphenazine?mtype=generic   [2022,Dec3]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=perphenazine  [2022,Dec3]
  6. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2002/10775s311213s24lbl.pdf   [2022,Dec3]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/perphenazine-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Dec3]