“เพร็พ” และ “เป็ป” ก็ต้านเอดส์เหมือนกัน (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

เพร็พและเป็ปก็ต้านเอดส์เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการกินยา PrEP แล้วก็ตาม ก็ยังคงต้องใช้ถุงยางอนามัยระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย เพราะ PrEP ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น กามโรค (Syphilis) โรคหนองใน (Gonorrhea) และเชื้อแคลมีเดีย (Chlamydia) ได้

โดยผู้ที่กินยา PrEP จะสามารถหยุดยาได้เมื่อ

  • มีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยลง
  • ไม่ต้องการกินยาทุกวันหรือลืมกินยาอยู่เสมอ เพราะความไม่ต่อเนื่องของการกินยา จะทำให้ PrEP ไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงควรใช้การป้องกันด้วยวิธีอื่นจะดีกว่า
  • ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

PrEP เหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้ออยู่เสมอๆ ส่วนผู้ที่พบความเสี่ยงเพียงครั้งเดียวในการติดเชื้อ ควรใช้ “เป็ป” ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุ

“เป็ป” (Post-exposure prophylaxis = PEP) เป็นยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral medicines = ART) ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังจากที่มีการสัมผัสเชื้อแล้ว หากใช้ทันทีจะสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 80

ควรใช้ PEP ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เพราะใน PEP จะมีตัวยาและขนาดยา (Doses) ที่สูงกว่าที่มีใน PrEP และต้องกินภายใน 72 ชั่วโมงหลังการสัมผัสกับเชื้อเฮชไอวี เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า การกิน PEP หลัง 72 ชั่วโมง จะให้ผลได้น้อยหรือไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เลย

ทั้งนี้ การกิน PEP ยิ่งเร็วยิ่งให้ผลดี (Every hour counts) และต้องกินวันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลา 28 วันติดต่อกันจึงจะได้ผลดี

หากท่านเป็นผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อหรือไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ ควรรีบติดต่อแพทย์ทันทีหากภายใน 72 ชั่วโมงที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ดังต่อไป

  1. อาจได้รับเชื้อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ถุงยางอนามัยแตกหรือรั่ว
  2. มีการใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น
  3. ถูกทำร้ายข่มขืน

แม้ PEP จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงควรหาวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเพื่อไม่ให้มีการติดเชื้ออีกและเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นหากปรากฏว่ามีการติดเชื้อระหว่างการรักษาด้วย PEP

สำหรับผลข้างเคียงที่เกิดจากการกิน PEP จะมีลักษณะเหมือน PrEP

แหล่งข้อมูล

1. PrEP. http://www.cdc.gov/hiv/basics/prep.html [2016, Aug 3].

2. PRE-EXPOSURE PROPHYLAXIS (PrEP). https://www.aids.gov/hiv-aids-basics/prevention/reduce-your-risk/pre-exposure-prophylaxis/ [2016, Aug 3].

3. PEP. http://www.cdc.gov/hiv/basics/pep.html/a> [2016, Aug 3].

4. Post-exposure prophylaxis to prevent HIV infection. http://www.who.int/hiv/topics/prophylaxis/info/en/ [2016, Aug 3].