เพนท็อกซิฟิลลีน (Pentoxifylline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาเพนท็อกซิฟิลลีน (Pentoxifylline) คือ ยากลุ่มอนุพันธ์แซนทีน (Xanthine) ทางแพทย์ได้นำยานี้มารักษา อาการปวดจากตะคริว, และการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อซึ่งเกิดระหว่างการออกกำลังกาย เช่น การเดิน เมื่อพักสักครู่อาการก็จะดีขึ้น สาเหตุมักมาจากเส้นเลือดแดงฝอยที่ไปเลี้ยงอวัยวะ/กล้ามเนื้อของร่างกายทำงานผิดปกติ, นอกจากนี้ยังนำไปใช้รักษา โรคสมองเสื่อมเนื่องจากมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ, รวมถึงอาการป่วยจากโรคต่างๆอาทิเช่น โรคผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของอวัยวะเพศชาย (Peyronie’s disease), โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease), โรคก้อนเนื้ออักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุที่เกิดในอวัยวะต่างๆมักพบเกิดที่ปอด/โรคซาร์คอยโดซิส(Sarcoidosis), โรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathy), และเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นลักษณะของยารับประทาน ซึ่งยาเพนท็อกซิฟิลลีนสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 10 - 30% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 0.4 - 0.8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือด สำหรับยาบางส่วนที่ถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเคมีโดยตับจะต้องใช้เวลาการกำจัดเพิ่มเป็นประมาณ 1 - 1.6 ชั่วโมง

เราสามารถพบการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลต่างๆและมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ประการสำคัญผู้ป่วยที่ใช้ยานี้จะต้องรับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง

เพนท็อกซิฟิลลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เพนท็อกซิฟิลลีน

ยาเพนท็อกซิฟิลลีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • เพิ่มการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะ เช่น แขน ขา
  • บำบัดอาการปวดขา ตะคริว อาการชา อ่อนแรงของแขนและขา
  • รักษาโรคสมองเสื่อม (บางประเทศกำลังทำงานวิจัยเพื่อชะลออาการสมองเสื่อมโดยใช้ยานี้)

เพนท็อกซิฟิลลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพนท็อกซิฟิลลีนคือ ตัวยาจะทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดการขยายตัวและลดอาการเกร็งตัวของหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับทำให้อวัยวะต่างๆได้รับออกซิเจนจากเม็ดเลือดได้อย่างเพียงพอ จากกลไกนี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เพนท็อกซิฟิลลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพนท็อกซิฟิลลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 400 มิลลิกรัม/เม็ด

เพนท็อกซิฟิลลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเพนท็อกซิฟิลลีนมีขนาดรับประทาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเช้า - กลางวัน - เย็น โดยรับประทานพร้อมอาหาร ควรรับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลา 8 สัปดาห์หรือตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) : ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงผลการรักษาและผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเพนท็อกซิฟิลลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพนท็อกซิฟิลลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเพนท็อกซิฟิลลีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เพนท็อกซิฟิลลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพนท็อกซิฟิลลีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีอาการหอบเหนื่อย
  • หายใจลำบาก
  • ตัวบวม
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องผูก
  • ปากคอแห้ง
  • กระหายน้ำ
  • วิตกกังวล
  • สับสน
  • ซึมเศร้า
  • มีอาการชัก
  • คัดจมูก
  • กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • เกิดอาการผื่นคัน
  • ลมพิษ
  • ผิวหนังบวมแดง
  • ตาพร่า
  • ปวดหู
  • การรับรสชาติเปลี่ยนไป
  • ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการ
    • เจ็บหน้าอก
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • เกิดภาวะดีซ่าน
  • ตรวจเลือดอาจพบค่าเอนไซม์การทำงานของตับเพิ่มขึ้น
  • เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ และเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่รับประทานยานี้เกินขนาดจะพบอาการ เช่น ใบหน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ ชัก หมดสติ มีไข้ หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน การดูแลรักษาแพทย์จะใช้วิธีล้างท้อง และให้รับประทานยาถ่านกัมมันต์ร่วมกับการควบคุมสัญญาณชีพของผู้ป่วยให้เป็นปกติโดยเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้เพนท็อกซิฟิลลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้เพนท็อกซิฟิลลีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้ หรือมีประวัติแพ้ยาของกลุ่มอนุพันธ์แซนทีน (Xanthine)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เพิ่งมีภาวะเลือดออกในสมองหรือเลือดออกที่จอตา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดแดงฝอยตามอวัยวะแขน ขาทำงานผิดปกติ ผู้ที่มีปัญหาการทำงานของหลอดเลือดแดง รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงสมองทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด, ผู้ป่วยด้วยโรคแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยมีรายงานยานี้ทำให้ตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์ทดลองเกิดความพิการ ประกอบกับยานี้ถูกขับออกมากับน้ำนมมารดาได้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพนท็อกซิฟิลลีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เพนท็อกซิฟิลลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพนท็อกซิฟิลลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเพนท็อกซิฟิลลีน ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะตกเลือดได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเพนท็อกซิฟิลลีน ร่วมกับ ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูงอาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับลดขนาดยาลดความดันโลหิตให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาเพนท็อกซิฟิลลีน ร่วมกับ ยาขยายหลอดลม เช่นยา Theophylline จะทำให้ระดับความเข้มข้นของยาขยายหลอดลมเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงติดตามมา กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
  • ห้ามใช้ยาเพนท็อกซิฟิลลีน ร่วมกับ ยาแก้ปวดที่มีชื่อว่า Ketorolac ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกหรือตกเลือดติดตามมาได้

ควรเก็บรักษาเพนท็อกซิฟิลลีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาเพนท็อกซิฟิลลีน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

เพนท็อกซิฟิลลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพนท็อกซิฟิลลีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cerator (เซเรเตอร์)Unison
Ceretal (เซเรทัล)Taiwan Biotech
Flexital CR (เฟลคซิทัล)Sun Pharma
Trental 400 (เทรนทัล 400)Sanofi-aventis
Trepal-400 (ทรีพอล-400)Okasa Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pentoxifylline [2021,June19]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=pentoxifylline [2021,June19]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/trental%20400 [2021,June19]
  4. https://www.drugs.com/cdi/pentoxifylline.html [2021,June19]
  5. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a685027.html#storage-conditions [2021,June19]