เพชรฆาตลูคีเมีย (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

เพชรฆาตลูคีเมีย

สำหรับการรักษาลูคีเมียนั้นมีวัตถุประสงค์หลักในการทำลายเซลล์ลูคีเมียและทำให้ไขกระดูกสามารถสร้างเซลล์ปกติได้ การรักษาลูคีเมียขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อายุ สุขภาพโดยรวม ชนิดของลูคีเมียที่เป็น การแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยการรักษาทั่วไป ได้แก่

  • เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นวิธีที่ใช้มากที่สุดในการรักษาลูคีเมีย โดยใช้ยาเคมีทำลายเซลล์มะเร็งให้ตาย ซึ่งอาจใช้ยาตัวเดียวหรือหลายตัวร่วมกันในการรักษา ในรูปแบบของยาเม็ดหรือยาฉีด
  • ชีวบำบัด (Biological therapy) ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
  • การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy) เช่น การให้ยา Imatinib เพื่อหยุดโปรตีนในเซลล์มะเร็งของคนที่เป็น CML
  • รังสีบำบัด (Radiation therapy) ใช้รังสีเอกซ์หรือพลังงานที่สูงในการทำลายและหยุดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจเป็นการให้รังสีเฉพาะส่วนหรือให้รังสีทั้งร่างกาย ทั้งนี้ รังสีบำบัดอาจใช้เพื่อเตรียมการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ด้วย
  • การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (Stem cell transplant) เป็นวิธีการเปลี่ยนไขกระดูกใหม่ โดยก่อนการเปลี่ยนถ่ายจะต้องได้รับเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัดเพื่อทำลายไขกระดูกที่ติดเชื้อก่อน จากนั้นจึงฉีดสเต็มเซลล์เพื่อช่วยสร้างไขกระดูกใหม่ ทั้งนี้ อาจได้รับสเต็มเซลล์จากผู้บริจาค (Allogeneic) หรือใช้สเต็มเซลล์ของตัวเอง (Autologous)

อาการแทรกซ้อนที่เกิดจากลูคีเมียมีความสัมพันธ์กับชนิดของลูคีเมียที่เป็น รวมถึงการที่โรคกำเริบอีกหลังการรักษา (Relapse) เช่น ร้อยละ 3-5 ของกรณี CLL ตัวเซลล์จะเปลี่ยนลักษณะไปเป็นชนิดรุนแรง (Aggressive lymphoma) หรือที่เรียกว่า Richter transformation

นอกจากนี้ยังอาจเป็นโรคโลหิตจางที่เกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานหรือแอนตีบอดี (Antibody) ต่อเม็ดเลือดแดงของตนเอง หรือที่เรียกว่า Autoimmune hemolytic anemic (AIHA) โดยคนที่เป็น CLL มักจะมีพัฒนาการไปเป็นมะเร็งชนิดอื่น (Second cancers) หรือเลือดผิดปกติด้วย

Tumor lysis syndrome ก็เป็นกลุ่มอาการหนึ่งที่เกิดจากการแตกทำลายของเซลล์มะเร็งเมื่อทำการรักษา อาจเกิดได้ในมะเร็งทุกชนิด แต่พบมากในกรณีของ AML หรือ ALL โดยเมื่อเซลล์มะเร็งถูกทำลายจะมีการปล่อยฟอสเฟตออกมาในปริมาณที่มาก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปกติของเมตาโบลิซึม (Metabolic abnormalities) และสามารถทำให้เกิดภาวะไตวายได้

สำหรับเด็กที่เป็น ALL ก็อาจมีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system = CNS) ทำให้เด็กโตช้า เป็นหมัน (Infertility) เป็นต้อกระจก (Cataracts) และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งอย่างอื่น

อนึ่ง ด้วยการรักษาสมัยใหม่ ทำให้สถิตของอัตราการอยู่รอดหลัง 5 ปีของลูคีเมียแต่ละชนิด (นับจาก พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2553) เป็นดังนี้

  • CML: ร้อยละ 60
  • CLL: ร้อยละ 84
  • AML: โดยทั่วไปร้อยละ 25, แต่เด็กและวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 15 ปี เป็นร้อยละ 66
  • ALL: โดยทั่วไปร้อยละ 70 แต่เด็กและวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 15 ปี เป็นร้อยละ 92 และเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เป็นร้อยละ 93

แหล่งข้อมูล

1. Leukemia - Topic Overview. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/leukemia/basics/definition/con-20024914[2016, February 25].

2. Leukemia - Topic Overview. http://www.webmd.com/cancer/tc/leukemia-topic-overview[2016, February 25].

3. Leukemiahttp://www.medicinenet.com/leukemia/article.htm [2016, February 25].