เพชรฆาตลูคีเมีย (ตอนที่ 3)

เพชรฆาตลูคีเมีย

โดยลูคีเมียชนิดหลักๆ ได้แก่

  1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟซิติคชนิดเฉียบพลัน หรือที่เรียกกันว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (Acute lymphocytic leukemia = ALL) เป็นลูคีเมียที่พบมากที่สุดในเด็ก แต่ก็สามารถเกิดได้ในผู้ใหญ่
  2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวไมอีลอยด์ชนิดเฉียบพลัน หรือที่เรียกกันว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล (Acute myelogenous leukemia = AML) เป็นลูคีเมียที่พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่เป็นชนิดเฉียบพลันที่พบมากที่สุดในผู้ใหญ่
  3. มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟซิติคชนิดเรื้อรัง หรือที่เรียกกันว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล (Chronic lymphocytic leukemia = CLL) เป็นลูคีเมียชนิดเรื้อรังที่พบมากในผู้ใหญ่ นานหลายปีที่ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้สึกอะไรจึงไม่จำเป็นต้องรักษา
  4. มะเร็งเม็ดเลือดขาวไมอีลอยด์ชนิดเรื้อรัง หรือที่เรียกกันว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (Chronic myelogenous leukemia = CML) เป็นลูคีเมียที่พบในผู้ใหญ่ อาจมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลยเป็นแรมเดือนหรือแรมปีก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นที่โรคพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
  5. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆ ซึ่งพบได้ยาก เช่น ชนิด Hairy cell leukemia ชนิด Myelodysplastic syndromes และชนิด Myeloproliferative disorders

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นลูคีเมีย ได้แก่

  • การสัมผัสกับรังสีในระดับที่สูง
  • เคยเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งมาก่อนด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด
  • มีความบกพร่องทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down syndrome)
  • สัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น สารเบนซีน (Benzene) ที่พบในน้ำมันเชื้อเพลิงและใช้ในอุตสาหกรรมเคมี สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) หรือที่เรียกว่า สารฟอร์มาลีน ที่ใช้มากในส่วนผสมของน้ำฆ่าเชื้อและทำความสะอาด ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และการผลิตสี รวมถึงการใช้สำหรับรักษาสภาพร่างกายของสัตว์หรือศพ
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็น
  • แพทย์อาจพบลูคีเมียชนิดเรื้อรังในการตรวจเลือดปกติก่อนที่จะปรากฏอาการ หากเป็นกรณีนี้หรือกรณีที่มีอาการของลูมีเมียปรากฏก็ควรจะทำการตรวจเพิ่มเติมดังนี้

    • ตรวจร่างกาย เช่น ดูความซีดของสีผิวจากการที่เลือดจาง ต่อมน้ำเหลืองบวม ตับและม้ามโต
    • ตรวจเลือด
    • ตรวจไขกระดูก (Bone marrow biopsy)

    แหล่งข้อมูล

    1. Leukemia - Topic Overview. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/leukemia/basics/definition/con-20024914[2016, February 24].

    2. Leukemia - Topic Overview. http://www.webmd.com/cancer/tc/leukemia-topic-overview[2016, February 24].