เพชรฆาตลูคีเมีย (ตอนที่ 2)

เพชรฆาตลูคีเมีย

อาการของลูคีเมียจะแตกต่างกันไปตามชนิดที่เป็น แต่อาการโดยทั่วไป ได้แก่

  • เป็นไข้หรือหนาวสั่นบ่อย
  • เหนื่อยล้าและอ่อนเพลียอยู่เสมอ
  • ติดเชื้อบ่อย
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ต่อมน้ำเหลือง ตับ หรือม้าม โต
  • เลือดออกหรือเป็นฟกช้ำได้ง่าย
  • เลือดกำเดาไหลอยู่บ่อยๆ
  • มีจุดเลือดออกขนาดเล็กในชั้นผิวหนังหรือเยื่อบุ (Petechiae)
  • เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • ปวดกระดูกหรือกดแล้วเจ็บ

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดลูคีเมีย แต่เข้าใจว่าเกิดจากปัจจัยพันธุกรรมและปัจจัยสภาพแวดล้อมร่วมกัน

โดยทั่วไปจะคิดว่าลูคีเมียเกิดขึ้นเมื่อเซลล์เม็ดเลือดกลายพันธุ์ (Mutations) ในดีเอ็นเอ ทำให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วไปเรื่อย ในขณะที่เซลล์ปกติจะตายลง เมื่อเวลาผ่านไปเซลล์ผิดปกติจะแทนที่เซลล์ปกติในไขกระดูก ทำให้เหลือเซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด ที่ปกติเพียงเล็กน้อย

ลูคีเมียมีหลายชนิด บางชนิดเกิดในเด็ก บางชนิดเกิดในผู้ใหญ่ โดยการแบ่งชนิดของลูคีเมียทำได้ 2 ลักษณะ คือ

1. แบ่งตามความเร็วในพัฒนาการของโรค ซึ่งได้แก่

  • ลูคีเมียชนิดเฉียบพลัน (Acute leukemia) – เซลล์ที่ผิดปกติจะเป็นเซลล์ตัวอ่อน (Blasts) ที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นอาการของโรคจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยการรักษาแบบเชิงรุกและทันท่วงที (Aggressive and timely treatment)
  • ลูคีเมียชนิดเรื้อรัง (Chronic leukemia) – มีหลายชนิด บางชนิดก็สร้างเซลล์ได้มากมาย แต่บางชนิดก็สร้างเซลล์ได้น้อย ลูคีเมียแบบเรื้อรังเกี่ยวข้องกับเซลล์ที่โตเต็มที่ เซลล์จะแบ่งตัวช้าๆ และสามารถทำงานได้เป็นปกติไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง บางชนิดจะไม่แสดงอาการแรกเริ่ม ทำให้ไม่สามารถสังเกตุหรือวิเคราะห์ได้นานหลายปี

2. แบ่งตามชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เป็น ซึ่งได้แก่

  • ลูคีเมียกลุ่มลิมโฟซิติค (Lymphocytic leukemia) – ลูคีเมียชนิดนี้จะมีผลต่อลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ที่สร้างเนื้อเยื่อน้ำเหลือง (Lymphoid / lymphatic tissue) ในระบบภูมิต้านทาน (Immune system)
  • ลูคีเมียแบบไมอิลอยด์ (Myelogenous leukemia) – ลูคีเมียชนิดนี้จะมีผลต่อเซลล์ไมอีลอยด์ (Myeloid cells) ที่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์ผลิตเกล็ดเลือด

แหล่งข้อมูล

1. Leukemia - Topic Overview. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/leukemia/basics/definition/con-20024914[2016, February 23].

2. Leukemia - Topic Overview. http://www.webmd.com/cancer/tc/leukemia-topic-overview[2016, February 23].