เพกฟิลกราสทิม (Pegfilgrastim)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพกฟิลกราสทิม (Pegfilgrastim) คือรูปแบบของกรดอะมิโน (Amino acid) ที่นำมาใช้เป็นยากระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์สร้างเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (Neutrophils, เม็ดเลือดขาวชนิดต่อสู้กับการติดเชื้อโรคของร่างกาย) เพกฟิลกราสทิมสามารถลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อในผู้ป่วยมะเร็ง ที่ไขกระดูกถูกกดคือไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดหรือสร้างได้น้อยเนื่องจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ตัวยาจะทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดในไขกระดูกให้เกิดการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลเพิ่มขึ้น พร้อมกับช่วยให้เม็ดเลือดขาวเจริญเติบโตมีความสมบูรณ์ในการต่อต้านเชื้อโรคได้เหมือนปกติ ดังนั้นยานี้จึงห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเพกฟิลกราสทิมจะเป็นยาฉีด สามารถฉีดกระตุ้นทางใต้ผิวหนัง ตัวยาจะใช้เวลาประมาณ 16 - 20 ชั่วโมงในการดูดซึมและทำให้ความเข้มข้นของยานี้ในกระแสเลือด เพิ่มขึ้นสูงสุด ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 15 - 80 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ทิ้ง

มีข้อจำกัดการใช้ยาเพกฟิลกราสทิมบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนเข้ารับการรักษาด้วยยานี้เช่น

  • เคยมีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาเพกฟิลกราสทิม
  • อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือภาวะที่เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดาซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาต่างๆแทบทุกประเภทรวมยาเพกฟิลกราสทิมในการที่จะเกิดผลข้างเคียงสูงจากยาต่างๆที่ใช้
  • โรคประจำตัวของผู้ป่วยที่เป็นอยู่ก่อนสามารถได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยาเพกฟิลกราสทิมเช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคปอด มีการติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) หรือเกิดการติดเชื้อตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยก่อนที่จะเข้ารับการทำเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี/รังสีรักษาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
  • ผู้ที่ใช้ยาประเภท Lithium อยู่ก่อน เมื่อได้รับยาเพกฟิลกราสทิมอาจจะเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) จากการใช้ยานี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
  • ยาเพกฟิลกราสทิมใช้ลดโอกาสการติดเชื้อของร่างกาย แต่ไม่ใช่ยารักษาการติดเชื้อ/ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ
  • ยาเพกฟิลกราสทิมอาจก่อให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า กลุ่มอาการของโรคหลอดเลือดฝอยรั่ว (Capillary leak syndrome/CLS, กลุ่มอาการที่เกิดจากของเหลวในหลอดเลือดฝอยรั่วออกจากหลอดเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อข้างเคียง เป็นกลุ่มอาการที่พบได้น้อยมาก) ที่อาจนำไปสู่ความดันโลหิตต่ำ การมีเลือดออกผิดปกติ การไหลของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงกระเพาะอาหารหรือลำไส้ลดลง มีอาการ เจ็บหน้าอก หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดปกติ เกิดปัญหากับการทำงานของไตและของปอด รวมถึงมีอาการบวมได้ทั่วตัว

อนึ่ง หลังจากผู้ป่วยได้รับยาเพกฟิลกราสทิมแพทย์จะมีการตรวจติดตามผลการใช้ยานี้เป็นระยะๆเพื่อวัดประสิทธิภาพหรือการก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้างกับผู้ป่วย

ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาเพกฟิลกราสทิมอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษที่สามารถใช้ได้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

เพกฟิลกราสทิมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เพกฟิลกราสทิม

ยาเพกฟิลกราสทิมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้ รับการรักษาโดยยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี/รังสีรักษา

เพกฟิลกราสทิมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพกฟิลกราสทิมคือ ตัวยาจะกระตุ้นให้ไขกระดูกผลิตและสร้างเม็ดเลือดขาวที่เป็นประโยชน์และใช้ป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยมะเร็งหลังการรักษาด้วยการฉายรังสี/รังสีรักษาหรือยาเคมีบำบัด

เพกฟิลกราสทิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพกฟิลกราสทิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดขนาด 6 มิลลิกรัม/หลอด (6,000 ไมโครกรัม/หลอด)

เพกฟิลกราสทิมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเพกฟิลกราสทิมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป: ฉีดยา 6 มิลลิกรัมเข้าใต้ผิวหนังต่อ 1 ครั้งของรอบการทำเคมีบำบัด
  • เด็กอายุ 1 - 12 ปี: ฉีดยา 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเข้าใต้ผิวหนังต่อ 1 ครั้งของการทำเคมีบำบัด ขนาดสูงสุดของการใช้ยาไม่เกิน 6 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 13 - 18 ปี: และมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป ฉีดยา 6 มิลลิกรัมเข้าใต้ผิว หนัง ต่อ 1 ครั้งของการทำเคมีบำบัด, ถ้าน้ำหนักตัวน้อยกว่า 45 กิโลกรัม ฉีดยา 0.1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเข้าใต้ผิวหนังต่อ 1 ครั้งของการทำเคมีบำบัด
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึงขนาดการใช้ยานี้ ขนาดยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง: ในการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด: การฉีดยานี้ต้องฉีดหลังจากได้รับยาเคมีบำบัดไปแล้ว 24 - 72 ชั่วโมง โดยห้ามฉีดยานี้ให้กับผู้ป่วยทันทีหลังจากได้รับยาเคมีบำบัด

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพกฟิลกราสทิม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพกฟิลกราสทิมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เพกฟิลกราสทิมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพกฟิลกราสทิมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก
  • ผลต่อการทำงานของม้าม: เช่น มีอาการม้ามโต อาจพบอาการม้ามแตก (ภาวะซีดอย่างรวดเร็วจากเสียเลือดมากจนอาจช็อกได้) ในผู้ป่วยบางราย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาการวิงเวียน นอนไม่หลับ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบผื่นคัน ผมร่วง
  • อื่นๆ: เช่น มีภาวะไข้ (Neutropenic fever)

มีข้อควรระวังการใช้เพกฟิลกราสทิมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพกฟิลกราสทิมเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยภายใน 14 วันก่อนที่จะเข้ารับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว
  • ระวังการเกิดกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดฝอยรั่ว โรคไตอักเสบ ภาวะร่างกายมีเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ (เช่น มีไข้) กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute respiratory distress syndrome, ARDS) และภาวะม้ามแตก
  • ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจประเมินควบคุมการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายจากแพทย์ผู้รักษาหลังได้รับยาเพกฟิลกราสทิมตามแพทย์แนะนำเช่น การทำงานของปอด ตับ ไต หลอดเลือด รวมถึงปริมาณเม็ดเลือดชนิดต่างๆ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หลังได้รับยานี้อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพกฟิลกราสทิมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เพกฟิลกราสทิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพกฟิลกราสทิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาเพ็กฟิลกราสทิมร่วมกับยา Pegloticase อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาเพกฟิลกราสทิมลดลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาเพกฟิลกราสทิมร่วมกับยา Methotrexate ด้วยจะทำให้เกิดผลกระทบ (ผลข้างเคียง) มากขึ้นกับผู้ป่วยจากยาทั้ง 2 ตัว
  • การใช้ยาเพกฟิลกราสทิมร่วมกับยา Lithium อาจก่อให้เกิดผลกระทบให้เกิดปริมาณเม็ดเลือดเพิ่มมากจนเกินไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาเพกฟิลกราสทิมอย่างไร?

ควรเก็บยาเพกฟิลกราสทิมในช่วงอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่อง แช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เพกฟิลกราสทิมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพกฟิลกราสทิมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Neulastim (นิวลาสทิม)Roche
Peglasta (เพกลาสตา)Kyowa Hakko Kirin

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugbank.ca/drugs/DB00019 [2016,June11]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Pegfilgrastim [2016,June11]
  3. http://www.drugs.com/cdi/pegfilgrastim.html [2016,June11]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/pegfilgrastim?mtype=generic [2016,June11]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/peglasta/?type=brief [2016,June11]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/pegfilgrastim-index.html?filter=2&generic_only= [2016,June11]