เบาหวาน (Diabetes mellitus)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เบาหวาน (Diabetes mellitus หรือ Diabetes หรือเรียกย่อว่า โรคดีเอ็ม, DM) เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ต้องได้รับการดูแลรักษาตลอดชีวิต ทั้งนี้เกิดจากการที่ในเลือดมีน้ำตาลสูงกว่าปกติ

เบาหวาน เป็นโรคจัดอยู่ในกลุ่มโรคเอนซีดี (NCD) พบได้สูงในคนทุกอายุ และทั้งสองเพศ แต่จะพบสูงขึ้นเมื่อสูงอายุ ปัจจุบันเนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้นทั่วโลกที่รวมถึงประเทศไทย จึงพบเบาหวานสูงขึ้นเรื่อยๆ มีการคาดการณ์จากสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ(The International Diabetes Federation ย่อว่า IDF)จำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 366 ล้านคนในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) เป็น 552 ล้านคนในปีค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)

ทั่วไป แบ่งเบาหวานเป็น 3 ชนิดหลัก คือ เบาหวานชนิด 1 (Diabetes mellitus type 1), เบาหวานชนิด 2 (Diabetes mellitus type 2), และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus)

ก. เบาหวานชนิด 1: เบาหวานชนิดนี้พบได้น้อยประมาณ 5% ของเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยผิดปกติ หรือสร้างไม่ได้เลย ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการ รักษาด้วยการฉีดยาอินซูลินตลอดชีวิต ดังนั้น จึงเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า ‘โรคเบาหวานชนิดต้องพึ่งอินซูลิน (Insulin-dependent diabetes mellitus)’ และเพราะเบาหวานชนิดนี้มักพบในเด็กและวัยรุ่น จึงเรียกได้อีกชื่อว่า ‘โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น หรือ Juvenile diabetes mellitus’ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น)

ข. เบาหวานชนิด 2: เป็นเบาหวานที่มักพบในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในคนอ้วน ดังนั้น จึงเรียกอีกชื่อว่า ‘เบาหวานในผู้ใหญ่ (Adult onset diabetes mellitus)’ และเป็นเบาหวานที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งอินซูลิน (Non- insulin-dependent diabetes mellitus) ซึ่งเบาหวานชนิดนี้พบได้สูงที่สุดประมาณ 90 - 95% ของโรคเบาหวานทั้งหมด ดังนั้น โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึง ‘โรคเบาหวาน’ จึงมักหมายถึงโรคเบาหวานชนิดนี้ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รู้ทันเบาหวาน)

ค. เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์: พบได้ประมาณ 2 - 5% ของเบาหวานทั้งหมด กล่าวคือ เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์เท่านั้น โดยมารดาไม่เคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อนตั้งครรภ์ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เบาหวานขณะตั้งครรภ์)

อนึ่ง บทความนี้จะกล่าวถึง ‘เฉพาะเบาหวานชนิด 2 เท่านั้น’ เนื่องจากเป็นโรคเบาหวานที่พบได้สูงที่สุด และต่อไปในบทความนี้จะเรียกโรคเบาหวานชนิด 2 นี้ว่า โรคเบาหวาน หรือ เบาหวาน

เบาหวานเกิดได้อย่างไร?

เบาหวาน

การเกิดโรคเบาหวาน มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน คือ ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) อินซูลินจะเป็นตัวนำน้ำตาลซึ่งเป็นน้ำตาลกลูโคส (Glucose) จากเลือดเข้าสู่เซลล์ของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เช่น สมอง ตับ ไต และหัวใจ ทั้งนี้เพื่อให้เซลล์ต่างๆนำกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานในการทำงานต่างๆของเซลล์ทุกชนิดทั่วร่างกาย หรือที่เราเรียกว่า การสันดาป หรือเมตาโบลิซึม (Metabolism) แต่เมื่อเกิดความผิดปกติต่างๆ เช่น ตับอ่อนสร้างอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ, หรือเกิดความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้เซลล์ไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้ ถึง แม้ตับอ่อนสร้างอินซูลินได้ตามปกติ ที่เรียกว่า เซลล์ดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance), หรือเกิดทั้งสองเหตุการณ์พร้อมกัน จึงส่งผลให้มีน้ำตาลเหลือคั่งในเลือดสูงมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น ซึ่งก็คือ โรคเบาหวาน นั่นเอง

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติเหล่านี้ขึ้นนั้น ยังไม่ทราบชัดเจน แต่จากการศึกษาพบว่า เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนซึ่งเกิดจากทั้งพันธุกรรมและวิถีทางในการดำเนินชีวิต (Life style) ร่วมกัน

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงเป็นเบาหวาน?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน เช่น

  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน: ซึ่งส่งผลให้เซลล์ต่างๆดื้อต่ออินซูลิน
  • ขาดการออกกำลังกาย: เพราะการออกกำลังกายจะช่วยควบคุมน้ำหนัก และช่วยให้เซลล์ต่างๆไวต่อการนำน้ำตาลไปใช้ หรือช่วยการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดได้ดีนั่นเอง
  • พันธุกรรม: เพราะพบว่า คนที่มีครอบครัวสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน) เป็นเบา หวานมีโอกาสเป็นเบาหวานสูงกว่าคนทั่วไป
  • เชื้อชาติ: เพราะพบว่า คนบางเชื้อชาติเป็นเบาหวานสูงกว่า เช่น ในคนเอเชีย และในคนผิวดำ
  • อายุ: ยิ่งอายุสูงขึ้น โอกาสเป็นเบาหวานยิ่งสูงขึ้น อาจจากการเสื่อมถอยของเซลล์ตับอ่อน หรือขาดการออกกำลังกายจากสุขภาพที่เสื่อมถอย
  • มีไขมันในเลือดสูง
  • มีความดันโลหิตสูง

เบาหวานมีอาการอย่างไร?

อาการหลัก*สำคัญของเบาหวาน คือ หิวบ่อย กระหายน้ำ และปัสสาวะปริมาณมากและบ่อย นอกจากนั้น เช่น

  • เหนื่อย อ่อนเพลีย
  • ผิวแห้ง คัน
  • ตาแห้ง
  • อาการชาเท้า หรือรู้สึกเจ็บแปลบที่ปลายเท้าหรือที่เท้า
  • ผอมลงโดยหาสาเหตุไม่ได้
  • เมื่อเกิดแผลในบริเวณต่างๆ แผลมักหายช้ากว่าปกติโดยเฉพาะแผลบริเวณเท้า
  • บางครั้งสายตาพร่ามัวโดยหาสาเหตุไม่ได้

แพทย์วินิจฉัยเบาหวานได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเบาหวานได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ประเภทอาหารที่บริโภค น้ำหนักตัว การออกกำลังกาย
  • การตรวจร่างกาย
  • และที่สำคัญคือ การตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณน้ำตาลในเลือด และ/หรือ ดูสารที่เรียกว่า ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C: Glycated hemoglobin)

อนึ่ง ทั่วไป ค่าปกติของน้ำตาลในเลือด (*แตกต่างกันได้ในแต่ละห้องปฏิบัติการ ให้ดูค่าปกติในรายงานผลตรวจ): เช่น

  • ตรวจหลังอดอาหารอย่างน้อยประมาณ 8 ชั่วโมง (ทั่วไป 10-16 ชั่วโมงหลังรับประทาน) (Fasting Blood Sugar หรือเรียกย่อว่า FBS หรือ Fasting plasma glucose ย่อว่า FPG) คือ น้อยกว่า 70-99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (มก./ดล.) หรือ
  • ถ้าตรวจเลือดที่ 2 ชั่วโมงหลังแพทย์ให้กินน้ำตาลประมาณ 75 กรัม (Glucose tolerance Test หรือเรียกย่อว่า จีทีที/ GTT) ค่าน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 140 มก./ดล
  • และ/หรือค่าน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) น้อยกว่า 6.5%

ทั้งนี้ การแปลผลตรวจ: เบาหวาน คือ

  • ค่าน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารสูงตั้งแต่ 126 มก./ดล. ขึ้นไป(ค่าช่วง 100-125 มก./ดล. เรียกว่า ภาวะปัจจัยเสี่ยงสูงที่จะเป็นเบาหวาน/Prediabetes)
  • และ/หรือ ค่าจีทีที สูงตั้งแต่ 200 มก./ดล. ขึ้นไป
  • หรือค่า HbA1C มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5%

นอกจากนั้น อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆประกอบด้วย เช่น

  • การตรวจปัสสาวะดูน้ำตาลในปัสสาวะ ซึ่งจะไม่พบในคนปกติ
  • การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต เพราะเบาหวานมักส่งผลต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง
  • และการตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงของเบาหวานต่อจอตา หรือที่เรียกว่า เบาหวานขึ้นตา

รักษาเบาหวานได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคเบาหวาน ต้องควบคู่กันไประหว่างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้ยา และการรักษาควบคุมโรคร่วมต่างๆ หรือโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง

ก. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต: ที่สำคัญ คือ

  • การลดน้ำหนัก, การควบคุมน้ำหนัก
  • ลดอาหาร แป้ง น้ำตาล และไขมัน
  • เพิ่มอาหารผักและผลไม้
  • และออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ หรือตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ

ข. การใช้ยาเบาหวาน: จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เพราะมีหลากหลายชนิดขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการ, อายุ, และการที่ผู้ป่วยใช้ยารักษาโรคอะไรอยู่บ้าง, มีทั้งยากินและยาฉีดอินซูลิน (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาเบาหวาน)

ค. รวมทั้งการใช้ยาต่างๆที่ใช้รักษาโรคร่วม/โรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน: เช่น

  • การรักษาควบคุมโรคความดันโลหิตสูง (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาลดความดันโลหิตสูง)
  • และโรคไขมันในเลือดสูง (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาลดไขมัน ) เป็นต้น

เบาหวานรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่จัดว่ารุนแรง เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ซึ่งความรุนแรงของโรคขึ้น กับผลของการควบคุมโรคได้ คือ การควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือใกล้เคียงเกณฑ์ปกติที่สุด

ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องดูแลรักษาควบคุมโรคนี้ตลอดชีวิต ซึ่งการจะควบ คุมโรคได้ดี ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาล แนะนำอย่าง ถูกต้อง เคร่งครัด และร่วมกับไม่ขาดยา

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่สำคัญของโรคเบาหวาน คือ

  • เป็นสาเหตุการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆทุกชนิดในร่างกาย โดยเป็นการอักเสบชนิดที่ไม่ติดเชื้อ ซึ่งที่สำคัญ คือ การอักเสบของหลอดเลือด จึงส่งผลให้หลอดเลือดต่างๆตีบแคบลง ส่งผลถึงการขาดเลือดของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ จึงเกิดโรคต่างๆเป็นผลข้างเคียงตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง และภาวะเบาหวานขึ้นตา
  • เมื่อเกิดแผล แผลต่างๆจะหายช้า โดยเฉพาะแผลบริเวณเท้า ซึ่งถ้าดูแลไม่ดี (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน) อาจถึงขั้นต้องตัดขา
  • โรคเบาหวานยังส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่างๆลดลงต่ำกว่าคนปกติทั่วไป จึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่าย และมักรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อมีการติดเชื้อและมีไข้สูง ผู้ป่วยทุกคนจึงควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ภายใน 1 - 2 วัน ไม่ควรละเลยดูแลตนเองนานกว่านี้
  • นอกจากนั้น คือ ผลข้างเคียงจากยาเบาหวาน ที่สำคัญ คือ
    • การเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ซึ่งผู้ป่วยทุกคนต้องรู้จักดูแลตนเองเพื่อป้องกัน และเพื่อดูแลตนเองได้ถูก ต้องเมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้น

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นเบาหวาน? ควรพบแพทย์เมื่อไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้ได้ ไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • ควบคุมโรคร่วมต่างๆให้ได้
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ จำกัดอาหาร แป้ง น้ำตาล ไขมัน เค็ม เพิ่ม ผักและผลไม้ กินอาหารในปริมาณใกล้เคียงกันทุกๆมื้อ เพื่อแพทย์จะได้แนะนำขนาดการใช้ยาเบาหวานได้ถูกต้อง ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่างๆจากการใช้ยาฯ โดยเฉพาะภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • รู้จักผลข้างเคียงจากยาเบาหวาน และการดูแลตนเองที่สำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ เพราะผู้ป่วยจะติดเชื้อต่างๆได้ง่าย จากเบาหวานเป็นสาเหตุที่ทำให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลง
  • รักษาสุขภาพเท้าเสมอ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน)
  • เลิกสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เพิ่มโอกาสเกิดผลข้างเคียงของโรคเบาหวาน โดยเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบตัน
  • เลิกสุรา ไม่ดื่มสุรา หรือจำกัดสุราให้เหลือน้อยที่สุด เพราะสุราอาจมีผลต่อยาที่ควบคุมโรคเบาหวานและโรคต่างๆ ทำให้ควบคุมโรคต่างๆได้ยาก สุราทำให้ควบคุมอาหารลำ บาก และเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ไม่ซื้อยากินเอง และไม่ใช้สมุนไพรเมื่อกินยาเบาหวาน เพราะอาจต้านหรือเพิ่มฤทธิ์ของยาเบาหวาน จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาเบาหวานที่รุนแรงได้ เช่น ผลต่อไต หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆตามแพทย์/กระทรวงสารธารณสุขแนะนำ เช่น วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่
  • พบจักษุแพทย์สม่ำเสมอตามแพทย์เบาหวานและจักษุแพทย์แนะนำ เพื่อการวินิจฉัย และการรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตาแต่เนิ่นๆ ป้องกันตาบอดจากเบาหวาน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • มีอาการต่างๆผิดปกติไปจากเดิม
    • อาการต่างๆเลวลงกว่าเดิม
    • มีไข้สูงและไข้ไม่ลงภายใน 2 วันหลังดูแลตนเอง
    • คลื่นไส้ อาเจียนมาก หรือ ท้องเสียมาก เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้
    • กินอาหารได้น้อยกว่าปกติต่อเนื่อง
    • มี ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเกิดบ่อยกว่าที่เคยเกิด
    • เมื่อมีแผลในบริเวณเท้าและแผลไม่ดีขึ้นภายในประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อแผลเลวลงโดยไม่ต้องรอถึง 1 สัปดาห์
    • เมื่อกังวลในอาการต่างๆ

ป้องกันเบาหวานได้อย่างไร?

การป้องกันเบาหวาน คือ

  • การดูแลตนเองเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเบาหวาน’
  • นอกจากนั้นคือ การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานให้พบโรค และได้รับการควบคุมดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่างๆ

อนึ่ง การตรวจเลือดดูน้ำตาลในเลือดเมื่อยังไม่เคยทราบว่าเป็นเบาหวาน: โดยทั่วไป แพทย์แนะนำการตรวจเลือดเพื่อดูน้ำตาลในเลือด เช่น

  • เริ่มตั้งแต่อายุ19 ปีขึ้นไป เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ’ หรือตามดุลพินิจของแพทย์
  • หรือตรวจเลือดในการตรวจสุขภาพทั่วไปร่วมกับดูค่าน้ำตาลด้วย โดยเฉพาะเมื่อพบว่ามีไขมันในเลือดสูง และ/หรือ มีความดันโลหิตสูง เพราะทั้ง 3 โรคนี้ มักเกิดร่วมกันเสมอ เพราะอยู่ในกลุ่มโรคเดียวกัน คือกลุ่มโรคที่เกิดจากมีความผิดปกติในกระบวนการสันดาป หรือเมตาโบลิซึมของร่างกาย/กลุ่มอาการเมตาโบลิก (Metabolic syndrome)
  • แต่ในคนทั่วไปที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง การตรวจเลือดเพื่อดูค่าน้ำตาลในเลือด มีการแนะนำให้เริ่มที่อายุประมาณ 40-45 ปี

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Patel, P., and Macerollo, A. (2010). Diabetes mellitus: diagnosis and screening. Am Fam Physician. 81, 863-870.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Diabetes_mellitus [2019,Feb16]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Diabetes_mellitus_type_2 [2019,Feb16]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/117853-overview#showall [2019,Feb16]
  6. https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/tests-diagnosis [2019,Feb16]
  7. https://www.diabetes.co.uk/diabetes_care/fasting-blood-sugar-levels.html [2019,Feb16]