เบาหวานขึ้นจอตา (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

เบาหวานขึ้นจอตา-4

      

      การวินิจฉัยภาวะเบาหวานขึ้นจอตาที่ดีที่สุด คือ การตรวจโดยขยายม่านตา (Dilated eye exam) ซึ่งจะมีการหยอดน้ำยาขยายม่านตาเพื่อให้แพทย์สามารถตรวจในตาได้ชัดเจนขึ้น โดยยาหยอดตานี้อาจทำให้ตามองไม่ชัดจนกว่าน้ำยาจะสลายหมดไปซึ่งอาจกินเวลาหลายขั่วโมง และแพทย์จะทำการตรวจตาเพื่อพิจารณาดังนี้

  • หลอดเลือดมีความผิดปกติหรือไม่
  • จอตาบวม มีเลือดหรือไขมันเกาะหรือไม่
  • มีหลอดเลือดที่สร้างใหม่และมีเซลล์ที่เป็นแผล (Scar tissue) หรือไม่
  • มีเลือดออกในวุ้นตาหรือไม่
  • จอประสาทตาลอกหรือไม่
  • เส้นประสาทตาผิดปกติหรือไม่

      นอกจากนี้ แพทย์อาจจะ

  • ทำสอบสายตา เพื่อวัดระดับการมองเห็น (Visual acuity test)
  • วัดความดันตา (Tonometry)
  • ตรวจจอประสาทตาโดยการฉีดสีฟลูออเรสซีน (Fluorescein angiography) เพื่อหาหลอดเลือดที่อุดตัน รั่วซึมหรือโตผิดปกติ
  • ใช้เครื่องตรวจวิเคราะห์ภาพตัดขวางขั้วประสาทตาด้วยเลเซอร์ (Optical coherence tomography = OCT) เพื่อดูความหนาของจอตาที่สะท้อนถึงการรั่วซึมของจอตา

      สำหรับการรักษาส่วนใหญ่ขึ้นกับระดับที่เป็นและความรุนแรง โดยระยะที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ (NPDR) อาจไม่จำเป็นต้องรักษาทันที แต่ต้องติดตามควบคุมอย่างใกล้ชิด ส่วนระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ (PDR) จะต้องทำการผ่าตัดทันที ซึ่งอาจใช้วิธี

  • Photocoagulation – เป็นการฉายแสงเลเซอร์ (Focal laser treatment) ที่ก่อให้เกิดความร้อนขึ้นจนยับยั้งหรือชะลอการลุกลามของเส้นเลือดที่ผิดปกติใต้จอประสาทตาได้ ส่วนของจอประสาทตาที่โดนแสงเลเซอร์แบบนี้จะถูกความร้อนทำลายไปด้วย กลายเป็นแผลเป็น ทำให้เกิดเป็นจุดมืดดำอย่างถาวร การมองเห็นจะลดลงทันทีหลังการรักษา แต่โดยทั่วไปแล้ว การสูญเสียการมองเห็นจะไม่รุนแรงเหมือนที่เกิดขึ้นเองจากโรคจอประสาทตาเสื่อมที่ไม่ได้การรักษาโดยการฉายแสงเลเซอร์
  • Panretinal photocoagulation (PRP) - เป็นการยิงแสงเลเซอร์ทั่วจอตา ยกเว้นบริเวณขั้วประสาทตา (Optic nerve head) และบริเวณจุดภาพชัด (Macula) เพื่อทำให้หลอดเลือดที่ผิดปกติหดตัว
  • การผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) เพื่อให้เลือดออกจากวุ้นตาหรือลอกเอาเซลล์ที่เป็นแผลออกจากวุ้นตา
  • ฉีดยาเข้าในลูกตา โดยใช้ยา Vascular endothelial growth factor (VEGF) inhibitors เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของหลอดเลือดที่สร้างใหม่

      เนื่องภาวะเบาหวานขึ้นจอตาในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการ แต่การตรวจพบและรักษาภาวะเบาหวานขึ้นจอตาในระยะแรกสามารถลดความเสี่ยงของการตาบอดได้ถึงร้อยละ 95 ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Diabetic retinopathy.https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetic-retinopathy/symptoms-causes/syc-20371611 [2018, October 1].
  2. What Is Diabetic Retinopathy? https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-diabetic-retinopathy [2018, October 1].
  3. Facts About Diabetic Eye Disease. https://nei.nih.gov/health/diabetic/retinopathy [2018, October 1].