เบาหวานขึ้นจอตา (ตอนที่ 3)

เบาหวานขึ้นจอตา-3

      

      คนที่เป็นโรคเบาหวานล้วนมีความเสี่ยงในการมีภาวะเบาหวานขึ้นจอตา โดยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอยู่กับ

  • ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน – ยิ่งเป็นโรคเบาหวานมานาน ยิ่งมีความเสี่ยงในการมีภาวะเบาหวานขึ้นจอตา มาก
  • มีการคุมระดับน้ำตาลไม่ดี
  • ความดันโลหิตสูง
  • ระดับคลอเรสเตอรอลสูง
  • อยู่ระหว่างตั้งครรภ์
  • สูบบุหรี่

      ส่วนอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นสามารถทำให้มีปัญหาเรื่องการมองเห็นที่รุนแรงได้ เช่น

  • เลือดออกในวุ้นตา (Vitreous hemorrhage) – หลอดเลือดที่สร้างใหม่อาจรั่วซึมเข้าไปยังลูกตา ถ้ามีปริมาณที่น้อยก็อาจจะเห็นเพียงแค่จุดดำ (Floaters) แต่หากเป็นกรณีที่รุนแรง เลือดก็อาจจะท่วมเต็มช่องตาส่วนหลังสุด (Vitreous cavity) และทำให้มองไม่เห็น

ซึ่งโดยปกติเลือดออกในวุ้นตาจะไม่ทำให้ตาบอดถาวร เพราะเลือดจะค่อยๆ สลายตัวอออกจากตาภายในสัปดาห์หรือเดือน

  • จอประสาทหลุดลอก (Retinal detachment) - ซึ่งอาจจะทำให้มีจุดลอยในภาพที่เห็น มีแสง หรือสูญเสียการมองเห็นที่รุนแรง
  • ต้อหิน (Glaucoma) – ซึ่งมีโอกาสเกิดได้มากกว่าคนปกติ 2 เท่า ทั้งนี้เพราะหลอดเลือดที่สร้างใหม่อาจไปอุดตันน้ำที่ออกจากตา เป็นสาเหตุให้เกิดความดันในลูกตา และความดันนี้ก็จะทำลายเส้นประสาทตาที่ส่งไปยังสมอง
  • ต้อกระจก (Cataract) – ซึ่งมีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนปกติ 2-5 เท่า
  • จุดกลางรับภาพจอประสาทตาบวมจากเบาหวาน (Diabetic Macular Edema = DME)
  • ตาบอด (Blindness)

      เราไม่สามารถป้องกันภาวะเบาหวานขึ้นจอตาได้ อย่างไรก็ดี การตรวจตาเป็นประจำ การควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิต และการรีบรักษาเมื่อมีปัญหาเรื่องการมองเห็น จะสามารถป้องกันการสูญเสียการมองเห็นที่รุนแรงได้ ดังนั้น หากเป็นโรคเบาหวาน ก็ควรจะลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตาดังนี้

  • คุมเบาหวาน – กินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ในแต่ละสัปดาห์ควรออกกำลังแบบแอโรบิค เช่น การเดิน ให้ได้อย่างต่ำ 150 นาที และกินยาหรือฉีดอินซูลินตามแพทย์สั่ง
  • คุมระดับน้ำตาลในเลือด – ควรเช็คและจดบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดหลายครั้งในแต่ละวัน
  • ตรวจค่าระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (Glycosylated hemoglobin test / Hemoglobin A1C test) ซึ่งควรอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 7
  • ควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับคลอเรสเตอรอล
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ใส่ใจในการเปลี่ยนแปลงของสายตา หากมีอาการผิดปกติ เช่น มองไม่ชัด มีจุด หรือพร่ามัว ให้ไปพบแพทย์ทันที

แหล่งข้อมูล:

  1. Diabetic retinopathy.https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetic-retinopathy/symptoms-causes/syc-20371611 [2018, September 30].
  2. Facts About Diabetic Eye Disease. https://nei.nih.gov/health/diabetic/retinopathy [2018, September 30].