“เบลล์ พัลซี” ปากที่เบี้ยวครึ่งซีก (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

แพทย์ได้แนะนำดาราสาว "จ๊ะ” จิตตาภา ซึ่งได้ป่วยเป็นโรคเบลล์ พัลซี่ (Bell’s palsy) ให้พักผ่อนมากๆ นอนวันละ 6–8 ชั่วโมง กินยาและทำกายภาพบำบัด โดยให้เคี้ยวหมากฝรั่ง และเคี้ยวอาหารข้างซ้าย และแพทย์ได้กล่าวอีกว่า การรักษาอย่างเร็วที่สุดคือ 1 เดือน และสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องดูแต่ตัวเองให้มากๆ

ในอดีตมีดาราดังหลายคนที่เคยเป็นโรคนี้แล้ว อาทิเช่น “พลอย” (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) และ "โอ" (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) เป็นต้น ส่วนการวินิฉัยอาการเบลล์ พัลซี อาศัยวิธีการตัดปัจจัยที่ไม่ใช่ออกไป (Diagnosis of exclusion) เนื่องจากเบลล์ พัลซี ถือเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic/Cryptogenic)

อาการเบลล์ พัลซีในแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ในผู้ป่วยที่มีอาการปากเบี้ยวบางส่วนซึ่งมีการพยากรณ์โรคว่ามีโอกาสหายสูง อาจไม่จำเป็นต้องให้การรักษาแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีกรณีที่รุนแรงอย่างผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตทั้งหน้า ไม่สามารถหลับตาและปิดปากได้ มักจะมีการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบยิ้ม (Smile surgery) การรักษาจะมีประสิทธิภาพที่สุดถ้าสามารถทำการรักษาได้ในทันที (ภายใน 3 วันที่เริ่มมีอาการ)

ยาสเตียรอยด์ (Steroids) เป็นยาที่ใช้ได้ผลในการรักษา ในขณะที่ยาต้านไวรัส (Antivirals) ใช้ไม่ได้ผล ยาสเตียรอยด์อย่างเพรดนิโซน (Prednisone) เป็นยาที่สามารถรักษาให้หายได้ใน 6 เดือน ในขณะที่ยาต้านไวรัสอย่าง (Acyclovir) ใช้ไม่ได้ผลกับอาการเบลล์ พัลซีเดี่ยวๆ อย่างไรก็ดี มีการใช้ยาต้านไวรัสหากพบว่ามีอาการเบลล์ พัลซีร่วมกับ เริม Herpes simplex และไวรัสวาริเซลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus)

การรักษาด้วยกายภาพบำบัด (Physiotherapy) อาจเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเบลล์ พัลซี เพราะช่วยรักษาความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle tone) ในส่วนที่เป็น และช่วยกระตุ้นประสาทที่ใบหน้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการออกกำลังกายของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue) เพื่อป้องกันการเป็นอัมพาตบนใบหน้าอย่างถาวร และเพื่อลดความเจ็บปวดที่ใบหน้า อาจใช้ความร้อนประคบด้านที่เป็น หรือใช้การกระตุ้นผิวหนังด้วยไฟฟ้า (Electrical stimulation)

อาการอื่นที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ได้แก่ ภาวะการรับรู้รสที่เสียไป (Ageusia) การกระตุกของกล้ามเนื้อใบหน้าเรื้อรัง (Chronic facial spasm) การปวดที่ใบหน้า และการติดเชื้อที่กระจกตา (Corneal infections)

เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อที่กระจกตา อาจป้องกันด้วยการปิดด้วยที่บังตาหรือตรึงด้วยเทปปิดตาช่วงนอนหลับพักผ่อน อาจใช้น้ำตาเทียมหรือขี้ผึ้งป้ายตาโดยเฉพาะกรณีที่เป็นอัมพาตทั้งหมด กรณีที่ไม่สามารถหลับตาได้จะมีผลทำให้ไม่สามารถกระพริบตา ดังนั้นจึงควรป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตาด้วย

ในปี พ.ศ.2525 มีการวิจัยจากผู้ป่วยจำนวน 1,011 ราย ที่ไม่ได้รับการรักษาแต่อย่างไร พบว่าร้อยละ 85 สามารถหายได้ภายใน 3 สัปดาห์ หลังจากเกิดอาการ และอีกร้อยละ 15 หายภายใน 3-6 เดือนต่อมา

ในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยเป็นเบลล์ พัลซี ประมาณ 20 คน จากจำนวน 100,000 คน หรือมีคนป่วยประมาณ 40,000 คนต่อปี หญิงมีครรภ์มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าหญิงปกติถึง 3 เท่า และผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนปกติถึง 4 เท่า

แหล่งข้อมูล:

  1. 'จ๊ะ' ปากเบี้ยวเหตุป่วยเครียดกลัวกระทบละคร http://www.komchadluek.net/detail/20120530/131459/จ๊ะปากเบี้ยวเหตุป่วยเครียดกลัวกระทบละคร.html [2012, June 19].
  2. Bell's palsy. http://en.wikipedia.org/wiki/Bell’s_palsy [2012, June 19].