เบนไซดามีน (Benzydamine) หรือ ดิฟแฟลม (Difflam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเบนไซดามีน (Benzydamine) หรือที่รู้จักกันในชื่อการค้าว่า ยาดิฟแฟลม (Difflam) เป็นยาบรรเทาอาการปวดและอาการอักเสบ จัดอยู่ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) และใช้เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะ ที่ ส่วนใหญ่นำมาใช้ลดการปวดอักเสบในช่องปากและช่องคอ ยานี้ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคเหมือน ยาปฏิชีวนะ แต่สามารถใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อเสริมฤทธิ์ในการรักษา

จากการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของเบนไซดามีนพบว่า เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด ปริมาณยาที่จับกับพลาสมาโปรตีนมีน้อย กว่า 20% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 13 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้จัดให้ยานี้อยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้ให้ปลอด ภัยและมีประสิทธิผลของการรักษา จึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

ยาเบนไซดามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร

เบนไซดามีน

ยาเบนไซดามีนมีสรรพคุณเป็นยาใช้เฉพาะที่ เพื่อรักษาอาการเจ็บคอ เช่น จากต่อมทอนซิลอักเสบ จากแผลร้อนใน จากแผลอักเสบในช่องปากและช่องคอจากรังสีรักษาบริเวณช่องปากและช่องคอ และจากยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งดังกล่าว บรรเทาอาการบวมของบาดแผล บรรเทาอาการปวดเนื่องจากการผ่าตัดทางทันตกรรม

ยาเบนไซดามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเบนไซดามีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อร่วม กับมีฤทธิ์เป็นยาชา ด้วยฤทธิ์ทั้ง 2 ข้อจึงทำให้ลดอาการปวดอักเสบได้ตามสรรพคุณ

ยาเบนไซดามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบนไซดามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาอม ขนาด 3 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาสเปรย์พ่นคอ ขนาดความเข้มข้น 0.3% น้ำหนัก/ปริมาตร
  • ยากลั้วคอ/ยาบ้วนปาก ขนาดความเข้มข้น 0.15% น้ำหนัก/ปริมาตร

ยาเบนไซดามีนมีขนาดรับประทาน/ขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเบนไซดามีนมีขนาดรับประทาน/ขนาดการบริหารยา/ขนาดการใช้ยาดังนี้

ก. ยาอม:

  • ผู้ใหญ่: อม 1 เม็ดทุกๆ 1 - 2 ชั่วโมง ภายใน 1 วันห้ามอมยาเกิน 12 เม็ด
  • เด็กที่รู้จักวิธีอมยา: ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์

ข. ยากลั้วคอ/ยาบ้วนปาก:

  • ผู้ใหญ่: ใช้ครั้งละ 15 มิลลิกรัม
  • เด็กที่รู้จักวิธีอมกลั้วคอ : ใช้ครั้งละ 5 - 15 มิลลิกรัม

    อนึ่ง ทั้งผู้ใหญ่และเด็กใช้ยานี้อมกลั้วคอทุกๆ 1.5 - 3 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเจือจางด้วยน้ำ(ยกเว้นใช้ยาแล้วแสบคอมาก สามารถเจือจางยาด้วยน้ำเปล่าได้) อมยาไว้เป็นเวลาประมาณ 30 วินาทีแล้วบ้วนทิ้ง ห้ามกลืนยา แต่ไม่ต้องบ้วนน้ำตาม

ค. ยาสเปรย์พ่นคอ:

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: สเปรย์เข้าลำคอครั้งละ 2 - 4 สเปรย์ทุกๆ 2 - 3 ชั่วโมง ความถี่ในการใช้สูงสุดไม่เกิน 6 ครั้ง/วัน
  • เด็กอายุ 6 - 12 ปี: สเปรย์เข้าลำคอครั้งละ 2 สเปรย์ทุกๆ 3 ชั่วโมง ถ้าจำเป็นความถี่ของการใช้สูงสุดไม่เกิน 6 ครั้ง/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์

*****หมายเหตุ:

  • การสเปรย์ยานี้ให้สเปรย์ในบริเวณที่มีบาดแผล มีอาการเจ็บ หรือที่มีการอักเสบ
  • สามารถใช้ยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ กรณีของยาเม็ดอมให้ใช้วิธีอมแล้วกลืนน้ำลาย ห้ามเคี้ยวยาโดยเด็ดขาด

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูออกซิทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูออกซิทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาเบนไซดามีนสามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในมื้อถัด ไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเบนไซดามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบนไซดามีนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีการชาที่ปาก เกิดแผลไหม้บริเวณที่สัมผัสยานี้ ปากแห้ง มีอาการรู้สึกร้อนในช่องปาก การรับรสชาติอาหารผิดไปจากเดิม

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนไซดามีนดังนี้

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูออกซิทีนดังนี้

  • มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนไซดามีนดังนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ไม่ควรใช้ยานี้เกิน 7 วัน
  • ระวังตับ - ไต ทำงานผิดปกติจากผลข้างเคียงของยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบนไซดามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเบนไซดามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากเบนไซดามีนเป็นยาใช้เฉพาะที่ จึงไม่ค่อยพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นที่มีอยู่ในฐานข้อมูลการศึกษา

ควรเก็บรักษายาเบนไซดามีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาเบนไซดามีนที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเบนไซดามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบนไซดามีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตได้แก่

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Difflam (ดิฟแฟลม) iNova

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Benzydamine [2014,Oct11]
2. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Difflam/difflamdifflam%20forte?type=brief [2014,Oct11]
3. http://www.mims.com/USA/drug/info/benzydamine/?type=brief&mtype=generic [2014,Oct11]
4. http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=817&drugName=Benzydamine&type=12 [2014,Oct11]