เบทานิดีน (Bethanidine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาเบทานิดีน (Bethanidine) คือ ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติกของร่างกาย และใช้เป็นแบบยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยาขับปัสสาวะก็ได้ โดยยานี้เป็นอนุพันธุ์ของยากัวเนธิดีน(Guanethidine derivative)

หากจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาเบทานิดีนกับยากัวเนธิดีน พบว่ายาเบทานิดีน จะออกฤทธิ์ได้รวดเร็วกว่าและก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างเช่นอาการท้องเสียน้อยกว่า

ยาเบทานิดีนถูกผลิตออกมาจำหน่ายในรูปแบบของยารับประทาน ด้วยเหตุผลที่ยานี้สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ดี แต่จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้น้อยกว่า 10% ก็ตาม ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 8 - 15 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

ผลข้างเคียงทั่วไปที่สามารถพบเห็นได้ของยานี้คือ อาการท้องเสียและเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น

ยาเบทานิดีนเป็นหนึ่งในรายการยาที่มีความเสี่ยงสูง สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้มาก มายหากใช้ไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องใช้ยาตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

เบทานิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เบทานิดีน

เบทานิดีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ขอบ่งใช้: เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง

เบทานิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเบทานิดีนจะแสดงฤทธิ์/มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อต้านสารสื่อประสาทประเภทแอดริเนอจิก (Antiadrenergic agent) โดยจะทำหน้าที่กดการหลั่งสารที่มีชื่อว่า’เรนิน(Renin:สารที่เกี่ยวกับการหดตัวของหลอดเลือดแดง)’ และเข้ารบกวนการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติกจนส่งผลให้เกิดฤทธิ์ลดความดันโลหิตตามสรรพคุณ

เบทานิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบทานิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 10 และ 25 มิลลิ กรัม/เม็ด

เบทานิดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเบทานิดีนมีขนาดการบริหารยา/การรับประทานในการควบคุมความดันโลหิตสูง เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 0.23 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 8 ชั่วโมง และขนาดรับประทานเพื่อคงระดับการรักษา 0.17 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 8 ชั่วโมง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทานสำหรับเด็กยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกสนับสนุนการใช้ยานี้ ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*อนึ่ง ควรรับประทานยานี้หลังอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเบทานิดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเบทานิดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบทานิดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เบทานิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบทานิดีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ท้องเสีย
  • เกล็ดเลือดต่ำ
  • อาจเกิดความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง
  • เจ็บหน้าอก ด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนถึงขั้นเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงบริเวณสมอง

*อนึ่ง:สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการ หัวใจเต้นช้า วิงเวียนศีรษะ ร่วมกับความดันโลหิตต่ำ หรืออาจเป็นลมร่วมด้วย หากมีอาการดังกล่าวต้องหยุดใช้ยา แล้วรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้เบทานิดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้เบทานิดีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตวาย และผู้ป่วยเนื้องอกชนิดหนึ่งของต่อมหมวกไต/ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
  • ห้ามปรับลด - เพิ่มขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหืด หรือมีประวัติระบบทางเดินหายใจตีบตัน และในผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบทานิดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เบทานิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบทานิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเบทานิดีนกับยา MAOIs และ TCAs อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเบทานิดีนด้อยประสิทธิภาพลง และเป็นเหตุให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเบทานิดีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเบทานิดีน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิที่ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

เบทานิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบทานิดีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Regulin (เรกูลิน) Gea
Esbatal (เอสบาทอล) Glaxo Smith Kline
Tenathan (เทนาแทน) Robins AH
Bendogen (เบนโดเจน) Lagap Pharmaceuticals SA

บรรณานุกรม

  1. https://go.drugbank.com/drugs/DB00217 [2021,July17]
  2. http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=94&drugName=&type=3 [2021,July17]
  3. http://mechanism-of-action.blogspot.com/2012/09/bethanidine.html[2021,July17]
  4. https://www.catalog.md/drugs/tenathan.html [2021,July17]
  5. https://www.wikigenes.org/e/chem/e/2368.html [2021,July17]