เบทริซาแบน (Betrixaban)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเบทริซาแบน(Betrixaban) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด(Anticoagulants)ที่จัดอยู่ในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของแฟคเตอร์ เทนเอ(Factor Xa inhibitor,เอนไซม์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการแข็งตัวของเลือด) ทางคลินิกใช้ยานี้เพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ(Venous thromboembolism) และช่วยป้องกันเกิดโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) รวมถึงบำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ(Atrial fibrillation) อย่างไรก็ตามยานี้ยังไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม (Prosthetic heart valves)

ยาเบทริซาแบน จัดว่าเป็นยาใหม่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ.2560) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาชนิดนี้เป็นแบบยารับประทาน ตัวยาจะมีระยะเวลาอยู่ในร่างกายได้ยาวนาน 19–27 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกกำจัดทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

การใช้ยาเบทริซาแบน มีข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวังที่ผู้ป่วยควรทราบดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาที่แพทย์กำหนด ซึ่งจะช่วยให้ประสิทธิผลของการรักษาด้วยยานี้เกิดสูงสุด ทั่วไประยะเวลาของการใช้ยาเบทริซาแบนอยู่ที่ 35–42 วัน
  • ผู้ป่วยโรคไตที่มีค่าครีอะตินีน เคลียรานซ์(Creatinine clearance) อยู่ระหว่าง 15–30 มิลลิลิตร/นาที แพทย์จะลดขนาดการใช้ยาเบทริซาแบนลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวจากขนาดการใช้ยาปกติ
  • กรณีที่ใช้ยาต้านเกล็ดเลือดตัวอื่นร่วมด้วย จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้ป่วยไปซื้อยาต้านเกล็ดเลือดชนิดใดๆมารับประทานเองโดยเด็ดขาด
  • ผลข้างเคียงประการหนึ่งของยานี้คือ ทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยต้อง หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลตามร่างกาย เพราะจะเป็นเหตุให้เลือดไหลออกมากผิดปกติ
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาเบทริซาแบนและต้องเข้ารับการฉีดยาชาเข้าทางไขสันหลัง (Spinal/Epidural anaesthesia) ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ยานี้ ดังนี้
    • หยุดการใช้ยาเบทริซาแบนเป็นเวลา 72 ชั่วโมงขึ้นไป จึงทำการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง และสามารถเริ่มใช้เบทริซาแบนได้หลังจากการให้ยาชาผ่านไขสันหลังไปแล้ว 5 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ หากพบเห็นร่องรอยบาดแผลบริเวณที่ฉีดยาเข้าไขสันหลัง(Traumatic puncture) ควรเลื่อนการรับประทานยาเบทริซาแบนห่างออกไปเป็น 72 ชั่วโมง
  • มีกลุ่มยาหลายประเภทที่ถือเป็นข้อห้ามใช้ หรือหากทำได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับ ยาเบทริซาแบน ด้วยจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายได้อย่างรุนแรตามมา อาทิยา Aspirin หรือสูตรตำรับยาที่มี Aspirin เป็นองค์ประกอบ, ยากลุ่มNSAIDsที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ, ยาWarfarin, ยาที่มีองค์ประกอบของ Heparin, ยาในกลุ่มSSRIs หรือ SNRIs, และกลุ่มยาที่มีการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ P-glycoprotein(P-glycoprotein inhibitors)
  • ผู้ที่ได้รับยาเบทริซาแบน ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที หากพบอาการต่อไปนี้เกิดขึ้นกับตนเอง ได้แก่ มีเลือดซึมตามเหงือก เกิดเลือดกำเดาไหลบ่อยครั้ง ประจำเดือนมามาก ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน ไอเป็นเลือด ปวดตามร่างกาย ปวดข้อหรือมีอาการบวมตามร่างกาย ปวดศีรษะ วิงเวียน และอ่อนเพลีย

ยาเบทริซาแบนจัดว่าเป็นยาต้านเกล็ดเลือด /ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอีกหนึ่งทางเลือกที่เริ่มเข้ามามีบทบาทและใช้ในวงการแพทย์ และสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Bevyxxa

เบทริซาแบนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เบทริซาแบน

ยาเบทริซาแบนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ

  • ใช้เป็นยาป้องกันการอุดตันของลิ่มเลือดภายในหลอดเลือด ตัวยาชนิดนี้ใช้ได้กับผู้ใหญ่ เท่านั้น และยังไม่มีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยเด็ก

เบทริซาแบนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเบทริซาแบนเป็นตัวยาที่มีกลไกการออกฤทธ์ยับยั้งหรือปิดกั้นการทำงานของ แฟคเตอร์ เทนเอ และ เอนไซม์ Prothrombinase ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกล็ดเลือดเข้ามารวมตัวกัน จากกลไกดังกล่าว ส่งผลให้การรวมตัวของเกล็ดเลือด เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาได้ตามสรรพคุณ

เบทริซาแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบทริซาแบน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Betrixaban 40 และ 80 มิลลิกรัม/แคปซูล

เบทริซาแบนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเบทริซาแบนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาเริ่มแรกที่ 160 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหาร, วันถัดมาให้รับประทาน 80 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, ระยะเวลาในการรับประทานให้เป็นไปตามคำสั่งของแพทย์
  • เด็ก: ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่เพียงพอในด้านความปลอดภัย และขนาดยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ผู้ป่วยที่มีค่า Creatinine clearance 15–30 มิลลิลิตร/นาที และผู้ที่ได้รับย P-glycoproteine inhibitor แพทย์จะปรับลดขนาดรับประทานของยาต่างๆที่ใช้ร่วมกันให้เหมาะสม
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดรับประทานยาเบทริซาแบนโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่าง หนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบทริซาแบน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบทริซาแบนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบทริซาแบน สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น 2 เท่าให้รับประทานยาที่ขนาดปกติตรงตามเวลาเดิม

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทาน ยาเบทริซาแบนให้ตรงทั้งขนาดและเวลาตามคำสั่งแพทย์

เบทริซาแบนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

เบทริซาแบนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดเลือดกำเดาออก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร :เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบเลือด : เช่น เกิดภาวะเลือดออกง่าย
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ

*อนึ่ง กรณีที่ร่างกายได้รับยาเบทริซาแบนเกินขนาด จะก่อให้เกิดความเสี่ยงทำให้เลือดออกง่าย และในปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษของยาเบทริซาแบน วิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยต้องใช้การเปลี่ยนถ่ายเลือดโดยเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้เบทริซาแบนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบทริซาแบน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากจะมีคำสั่ง แพทย์
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย หรือมีเกล็ดเลือดต่ำ
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้าม ปรับลด หรือ เพิ่มขนาดรับประทาน โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • การใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาเบทริซาแบน จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
  • หากพบอาการผิดปกติ เช่น ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย มีเลือดออกตามเหงือก หรือปนมากับอุจจาระหรือปัสสาวะ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเบทริซาแบนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เบทริซาแบนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบทริซาแบนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบทริซาแบนร่วมกับยา Abciximab , Nifedipine , Salicylamide, Urokinase ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา
  • ห้ามใช้ยาเบทริซาแบนร่วมกับ ยาValdecoxib เพราะเสี่ยงต่อการมีเลือดออกใน ระบบทางเดินอาหาร

ควรเก็บรักษาเบทริซาแบนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเบทริซาแบนดังนี้ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

เบทริซาแบนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบทริซาแบน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Bevyxxa (เบวิกซ์ซา) Portola Pharmaceuticals, Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Betrixaban[2018,Oct6]
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/208383s000lbl.pdf [2018,Oct6]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Direct_Xa_inhibitor [2018,Oct6]
  4. https://www.drugs.com/cdi/betrixaban.html [2018,Oct6]