เนบิโวลอล (Nebivolol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เนบิโวลอล (Nebivolol หรือ Nebivolol hydrochloride) เป็นยาในกลุ่มเบต้า1 รีเซปเตอร์ บล็อกเกอร์ (Beta1-receptor blocker ที่อยู่ในกลุ่มยา Beta blocker) มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ทางคลินิกจึงนำมาใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง ในประเทศแถบยุโรปยังใช้ยานี้รักษาอาการหัวใจล้มเหลวอีกด้วย

ยาเนบิโวลอลมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยาจะถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร ยาที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประ มาณ 98% ตับจะคอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งโดยผ่านไปทางปัสสาวะและอุจจาระ

ทั้งนี้เงื่อนไขที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาเนบิโวลอลได้มีดังนี้เช่น

  • มีประวัติแพ้ยานี้มาก่อน
  • มีภาวะหัวใจหยุดเต้น
  • มีประวัติป่วยด้วยโรคหืด หรือป่วยด้วยภาวะ Raynaud syndrome หรือมีปัญหาการทำงานของตับ
  • เป็นผู้ป่วยเด็กที่มีอาการโรคเบาหวาน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น) หรือเด็กที่ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยาเนบิโวลอลกับผู้ป่วยที่มีการใช้ยา Miberfradil (ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง) อยู่ก่อนแล้ว

โดยทั่วไปแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาเนบิโวลอลเพียงวันละ 1 ครั้งเท่านั้นซึ่งสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้ การใช้ยาเนบิโวลอลรักษาอาการหัวใจล้มเหลว แพทย์อาจต้องให้ผู้ป่วยเริ่มรับประทานยาในขนาดต่ำก่อน จากนั้นแพทย์จึงค่อยปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้น โดยสังเกตการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยประกอบกันไป

อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่อาจพบเห็นได้หลังจากได้รับยาเนบิโวลอลคือ อาจจะเกิดอาการอ่อนเพลียและหัวใจเต้นช้าลง

หากรับประทานยาเนบิโวลอลเกินขนาดจะก่อให้มีอาการวิตกกังวล ตาพร่า หนาวสั่น เหงื่อออกมาก รู้สึกสับสน ปัสสาวะน้อย มีอาการไอ ตัวซีด ซึมเศร้า วิงเวียน เป็นลม ปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร เป็นตะคริว เกิดลมชัก และเข้าขั้นโคม่า หากพบเห็นอาการเหล่านี้ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาเนบิโวลอลอยู่ในกลุ่มยาอันตราย และการใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

เนบิโวลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เนบิโวลอล

ยาเนบิโวลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ยำบัดรักษาความดันโลหิตสูง
  • บำบัดรักษาอาการหัวใจล้มเหลว

เนบิโวลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเนบิโวลอลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานที่ตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อ เบต้า1 รีเซปเตอร์ (Beta 1 receptor) ซึ่งอยู่ตามผนังหลอดเลือดต่างๆทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลต่อการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของหัวใจทำได้สะดวกขึ้น จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เนบิโวลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเนบิโวลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 2.5, 5, 10 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด

เนบิโวลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเนบิโวลอลมีขนาดรับประทานเช่น

ก. สำหรับความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 5 มิลลิกรัมวันละครั้ง แพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นทุก 2 สัปดาห์โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป: รับประทานเริ่มต้นที่ 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้ง แพทย์สามารถเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 5 มิลลิกรัม/วัน

ข. สำหรับอาการหัวใจล้มเหลว:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 1.25 มิลลิกรัมวันละครั้ง แพทย์สามารถเพิ่มขนาดรับประทานเป็นอีกเท่าตัวหลังใช้ยานี้ไปแล้ว 1 - 2 สัปดาห์ โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน

*อนึ่ง

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและมีภาวะโรคไตร่วมด้วยให้เริ่มรับประทานยา 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้ง แพทย์สามารถเพิ่มขนาดรับประทานได้ถึง 5 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ขนาดการใช้ยานี้ของเด็กยังมิได้มีการจัดทำทางคลินิก ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเนบิโวลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเนบิโวลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเนบิโวลอลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเนบิโวลอลตรงเวลา และการ ลืมรับประทานยานี้บ่อยครั้งอาจทำให้อาการป่วยทรุดลง

เนบิโวลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเนบิโวลอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นช้า มีอาการบวมตามร่างกาย ความดันโลหิตต่ำหรือความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจพบอาการเจ็บหน้าอกหรือมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หยุดหายใจ มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ไอ หลอดลมอักเสบ คอ/คอหอยอักเสบ หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเหงื่อออกมาก เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการปวดหลัง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องอืด อาเจียน และปวดท้อง
  • ผลต่อภาวะทางจิต: เช่น กระสับกระส่าย ฝันร้าย ซึมเศร้า นอนไม่หลับ วิตกกังวล
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น มีอาการตาพร่า
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกล็ดเลือดลดลง (Thrombocytopenia)
  • ผลต่อไต: เช่น อาจมีภาวะไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ ค่าสารบิลิรูบินในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง กรดยูริคในเลือดสูง ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไขมันชนิดดี (เฮชดีแอล/HDL) ในเลือดลดลง

มีข้อควรระวังการใช้เนบิโวลอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเนบิโวลอลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ผู้ที่อยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ที่มีอาการหัวใจ เต้นช้า ผู้ที่อยู่ในภาวะช็อกจากโรคหัวใจ ผู้ป่วยเนื้องอก Pheochrocytoma ที่อาการโรครุนแรงจนควบคุมรักษาไม่ได้ ผู้ป่วยโรคหืดหรือมีประวัติป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยต่อมไท รอยด์เป็นพิษ
  • ระหว่างการใช้ยานี้ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ/ECG และตรวจระดับน้ำตาลในเลือดตามแพทย์แนะนำ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเนบิโวลอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เนบิโวลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเนบิโวลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาเนบิโวลอลร่วมกับยา Theophylline อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาเนบิโวลอลลดต่ำ และได้รับผลข้างเคียงจากยา Theophylline เพิ่มมากขึ้นโดยทำให้เกิดอาการอาเจียน คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ตัวสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาเนบิโวลอลร่วมกับยา Dolasetron, Atazanavir อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาเนบิโวลอลร่วมกับยา Verapamil อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้าลง กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานอย่างเหมาะสมกับผู้ป่วย
  • การใช้ยาเนบิโวลอลร่วมกับยา Diltiazem อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ เป็นลม น้ำหนักตัวเพิ่ม หายใจถี่/หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาเนบิโวลอลอย่างไร?

ควรเก็บยาเนบิโวลอลในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เนบิโวลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเนบิโวลอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Nebilet (เนบิเลท)Menarini

อนึ่งยาชื่อการค้าของยานี้ในประเทศอื่นๆเช่น Asivol, Betalol, Nebilol, Bystolic

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Nebivolol [25june16]
  2. http://www.drugs.com/dosage/nebivolol.html#Usual_Adult_Dose_for_Hypertension [25june16]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/nebilet/?type=brief [25june16]
  4. http://www.drugs.com/cdi/nebivolol.html [25june16]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/nebivolol-index.html?filter=3&generic_only= [25june16]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/nebivolol/?type=brief&mtype=generic [25june16]