เท้าแบนๆ (ตอนที่ 1)

เท้าแบนๆ

จะมีผู้หญิงกี่คนที่รู้ถึงความจริงว่ากิจวัตรที่เธอทำอยู่ในแต่ละวันเป็นการทำร้ายเท้าของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการยืนบนรองเท้าส้นสูงทั้งวัน การใส่รองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้า การเดินผิดวิธี รวมถึงการเลือกรองเท้าที่มีพื้นแบนเกินไป

ในเรื่องนี้ นายแพทย์เชิดพงศ์ หังสสูต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเท้า เวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีรูปทรงเท้าแบบใด และภาวะเท้าแบนมาเยือนโดยไม่รู้ตัว

โดยเฉพาะอาการปวดส้นเท้า ปวดเข่า และหลังส่วนล่างเกิดขึ้นบ่อย ซึ่งสาเหตุที่เกิดอาจเป็นเพราะรองเท้าที่เราสวมใส่ หรือบางครั้งอาจเป็นสาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตัวว่านั่นคือ "ภาวะเท้าแบน”

นพ.เชิดพงศ์ กล่าวด้วยว่า โดยปกติแล้วสรีระเท้าที่ถูกต้องนั้นจะต้องมีอุ้งเท้า ในสมัยก่อนที่โลกเรายังไม่พัฒนาเราก็จะเดินบนพื้นหญ้าดินหรือทราย พื้นผิวธรรมชาติเหล่านี้จะช่วยรองรับอุ้งเท้า

แต่ในปัจจุบันเราเดินบนพื้นปูนแข็งๆ แบนราบ และเมื่อเท้าเรากระทบกับพื้นราบ แบน แข็ง ที่ไม่สามารถรองรับกับอุ้งเท้าของเรา ซึ่งเป็นส่วนโค้งเว้า ก็จะทำให้เท้าบิดเข้าด้านในที่ละน้อย และเกิดภาวะเท้าแบนในที่สุด

นพ.เชิดพงศ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีภาวะเท้าแบนเกิดขึ้นกว่าร้อยละ 70 ซึ่งเมื่อเป็นภาวะเท้าแบนแล้ว จะทำให้เกิดอาการปวดส้นเท้า และปวดต่อเนื่องไปจนถึงหัวเข่าและหลังส่วนล่างได้ การใช้ยานวด หรือกินยาคลายกล้ามเนื้อนั้นเป็นวิธีการรักษาที่ปลายเหตุ

นพ.เชิดพงศ์ อธิบายว่า ภาวะเท้าแบนแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

  1. เท้าแบนแบบยืดหยุ่น (Flexible Flat Feet) คือ เมื่อยกเท้าขึ้นจากพื้นจะพบว่า มีอุ้งเท้าได้เหมือนเดิม แต่เมื่อยืนลงน้ำหนัก ส่วนโค้งเว้าด้านในจะลดลงหรือหายไป ซึ่งลักษณะนี้พบบ่อยที่สุดคือประมาณร้อยละ 20 ของคนทั่วไป บางรายอาจมีอาการเจ็บบริเวณเท้า ข้อเท้าเอ็นร้อยหวาย หรือสังเกตได้ว่ารองเท้าสึกบริเวณด้านในมากกว่าด้านนอก เนื่องจากน้ำหนักของฝ่าเท้าที่ลงด้านนี้มากกว่า โดยมักพบในวัยรุ่นที่มีน้ำหนักตัวมาก
  2. เท้าแบนแบบยืดติด (Rigid Flat Feet) มักพบได้น้อยกว่าเท้าแบนแบบยืดหยุ่น วิธีสังเกตคือ ไม่ว่าจะลงน้ำหนักหรือไม่ก็ตาม เท้าก็จะแข็งแบนผิดรูปในลักษณะนั้นตลอด

สำหรับการดูแลอาการเท้าแบนนั้น นพ.เชิดพงศ์ กล่าวว่า ในระยะแรกจะมุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้มีการผิดรูปของเท้า เริ่มตั้งแต่ปัจจัยที่ควบคุมด้วยตัวเองได้อย่าง การควบคุมน้ำหนัก การปรับกิจกรรม การทำกายภาพบำบัด หรือการใช้ตัวช่วยอย่างรองเท้าที่ปรับรูปเท้า

ดังนั้น เมื่อมีอาการเกิดขึ้นเป็นประจำ ควรรักษาที่ต้นเหตุก่อน สำหรับผู้มีภาวะเท้าแบนควรเลือกรองเท้าที่มีส่วนเสริมปรับสภาพเท้าเพื่อให้เท้าถูกปรับสภาพให้ถูกต้องตลอดเวลาหรือให้เกิดอุ้งเท้าขณะใส่นั่นเอง เมื่อสรีระเท้าของเรากลับไปอยู่ในภาวะเหมือนที่มีอุ้งเท้าปกติ เส้นเอ็นก็ถูกลดการยึดตึง อาการปวดก็จะบรรเทาลง

แหล่งข้อมูล

  1. รองเท้าสูงเว่อร์ เดินผิดวิธี!! ภัยเงียบเท้าแบน ปวดหลังปวดเข่า http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9570000129214 [2014, November 24].