เท้าปุก เท้าของหนู (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

เท้าปุกเท้าของหนู

เท้าปุกอาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงอื่นๆ อีก กรณีที่เด็กไม่ได้รับการรักษา เช่น

  • โรคข้ออักเสบ (Arthritis)
  • บุคลิกภาพไม่ดีเมื่อโตเป็นวัยรุ่น
  • ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ บางรายอาจต้องเดินบนเนินปลายเท้า (Ball of the foot) หรือเดินด้วยหลังเท้า (Top of the foot)
  • การพยายามเดินอาจทำให้กล้ามเนื้อน่องไม่เจริญเติบโตตามปกติ ทำให้เกิดอาการปวดหรือเป็นตาปลา (Calluses) บนเท้า

โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยด้วยการมองดูรูปเท้าของทารกได้ แต่มีบางครั้งแพทย์อาจให้ทำการเอ็กซเรย์เพื่อดูว่าอาการเท้าปุกรุนแรงขนาดไหน หรือบางทีการอัลตราซาวด์ก็สามารถทำให้มองเห็นเท้าปุกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

สำหรับการรักษานั้น เนื่องจากข้อต่อและเอ็นของทารกยืดหยุ่นได้มาก ดังนั้นการรักษามักเริ่มใน 1-2 สัปดาห์แรกหลังคลอด โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับให้เท้าทารกเป็นปกติก่อนที่เด็กจะเริ่มหัดเดินและป้องกันการพิการในระยะยาว ซึ่งการรักษาสามารถทำได้โดย

1. วิธีพอนเซตี้ (Ponseti method) ซึ่งแพทย์จะทำการ

  • ดัดเท้าทารกให้อยู่ในตำแหน่งปกติและใส่เฝือกยึดไว้
  • ทำการปรับเท้าและใส่เฝือก 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาหลายเดือน
  • อาจต้องทำการผ่าตัดเล็กน้อย (Percutaneous Achilles tenotomy) เพื่อยืดเอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon) ในการใส่เฝือกครั้งสุดท้าย

หลังจากที่แพทย์ดัดเท้าให้แล้ว แพทย์จะให้ครอบครัวดูแลเด็กต่อดังนี้

  • ออกกำลังกายแบบยืดเอ็นและกล้ามเนื้อ (Stretching exercises) ให้เด็ก
  • ให้เด็กใส่รองเท้าที่สั่งตัดพิเศษ ซึ่งมักจะให้ใส่ตลอดเวลานาน 3 เดือน และใส่เฉพาะตอนนอนเป็นเวลาอีก 3 ปี

2. การผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่เท้าปุกมีอาการรุนแรงหรือไม่สนองตอบต่อการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด โดยการผ่าตัด จะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ ไม่นิยมผ่าตัดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6-9 เดือน

หลังการผ่าตัดเด็กจะต้องใส่เฝือกประมาณ 2 เดือน แล้วใส่ที่รัด (Brace) อีกประมาณ 1 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้เท้ากลับมามีอาการอีก อย่างไรก็ดีอาการเท้าปุกอาจกลับมาเป็นได้อีกหลังการผ่าตัดผ่านไปหลายปี ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามดูอาการจนกว่าร่างกายจะหยุดเจริญเติบโตหรือจนกว่าจะอายุ 18 ปี

และเนื่องจากเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดอาการเท้าปุก ดังนั้นเราจึงไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดีเราสามารถจำกัดความเสี่ยงของการพิการแต่กำเนิดได้โดยแม่ที่ตั้งครรภ์

  • ไม่สูบบุหรี่หรืออยู่ในสถานที่มีควันบุหรี่
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่แพทย์ไม่ได้อนุญาต

แหล่งข้อมูล

1. Clubfoothttp://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/clubfoot/home/ovc-20198067 [2016, April 21].

2. Clubfoothttp://www.massgeneral.org/ortho-childrens/conditions-treatments/clubfoot.aspx [2016, April 21].