เท้าปุก เท้าของหนู (ตอนที่ 2)

เท้าปุกเท้าของหนู

เท้าปุกมักเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า และเด็กเท้าปุกประมาณร้อยละ 50 จะมีอาการเท้าปุกในเท้าทั้งสองข้าง ทำให้เดินลำบาก แพทย์จะแนะนำให้ทำการรักษาให้เร็วที่สุดหลังเด็กคลอด ซึ่งมักทำได้โดยไม่ต้องผ่าตัด หรืออาจต้องผ่าตัดในภายหลัง

อาการของเด็กที่เป็นโรคเท้าปุก ได้แก่

  • มีลักษณะฝ่าเท้าบิดเข้าด้านใน ทำให้ปลายเท้าโค้งเข้ามากขึ้น และส้นเท้าจิกลง
  • หากเป็นแบบรุนแรงจะดูเหมือนเท้าหงายขึ้น
  • กล้ามเนื้อของขาด้านที่เป็นมักลีบ ไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น
  • เท้าด้านที่เป็นอาจจะสั้นกว่าอีกด้านประมาณ ½ นิ้ว

แพทย์มักสังเกตุอาการเท้าปุกได้ตั้งแต่เด็กคลอด และจะแนะนำให้ไปพบกุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ (Pediatric orthopedist) เพื่อทำการรักษา

สำหรับสาเหตุที่เกิดเท้าปุกนั้นยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเท้าปุก ได้แก่

  • ประวัติครอบครัว (Family history) – หากมีพ่อแม่หรือพี่เป็นเท้าปุก เด็กจะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นด้วย
  • เป็นสภาวะตั้งแต่เกิด (Congenital conditions) – โดยเกิดร่วมกับกระดูกผิดปกติอื่นๆ เช่น สไปนา ไบฟิดา (Spina bifida) ซึ่งเป็นความผิดปกติที่มักเป็นมาแต่กำเนิดของแนวกระดูกสันหลัง
  • สภาพแวดล้อม (Environment) – หากหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเท้าปุกสูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกจะมีความเสี่ยงในการเป็นเท้าปุกมากเป็น 2 เท่าของหญิงที่ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้การติดเชื้อหรือการใช้ยาเพื่อการหย่อนใจ (Recreational drugs) ระหว่างการตั้งครรภ์ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเท้าปุกได้
  • การมีน้ำคร่ำ (Amniotic fluid) ไม่พอระหว่างตั้งครรภ์ – สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเท้าปุกได้

นอกจากนี้ เด็กที่เป็นเท้าปุกแต่กำเนิดจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในการเป็นโรคข้อสะโพกหลุด (Developmental dysplasia of the hip = DDH) อีกด้วย

เท้าปุกจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาจนกว่าเด็กจะเริ่มหัดยืนและหัดเดิน หากอาการเท้าปุกได้รับการรักษา เด็กส่วนใหญ่ก็มักจะเดินได้ตามปกติ แต่ก็มีเด็กบางรายที่อาจมีปัญหาทำให้

  • มีการเคลื่อนไหวที่จำกัด
  • ขนาดรองเท้า (Shoe size) ข้างที่มีปัญหาอาจเล็กกว่าข้างที่ไม่มีปัญหาประมาณ 1.5 เบอร์
  • ขนาดของกล้ามเนื้อน่อง (Calf size) ข้างที่มีปัญหามักจะเล็กกว่าข้างที่ไม่มีปัญหาเสมอ

แหล่งข้อมูล

1. Clubfoothttp://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/clubfoot/home/ovc-20198067 [2016, April 20].

2. Clubfoothttp://www.massgeneral.org/ortho-childrens/conditions-treatments/clubfoot.aspx [2016, April 20].