เท้าปุก เท้าของหนู (ตอนที่ 1)

เท้าปุกเท้าของหนู

นพ. ปวริศร สุขวนิช ศัลยแพทย์กระดูกและข้อในเด็ก กล่าวถึง “โรคเท้าปุก” ว่าเป็นการผิดรูปของเท้าในเด็กแรกเกิดที่พบบ่อยที่สุดชนิดหนึ่ง โดยมีโอกาสพบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ของเด็กแรกคลอด อาจแตกต่างกันไปเล็กน้อยตามเชื้อชาติ โดยรูปร่างเท้าจะมีลักษณะผิดรูปหลายอย่างร่วมกัน แต่อาจสังเกตได้โดยมีลักษณะฝ่าเท้าบิดเข้าด้านใน ปลายเท้าโค้งเข้า และส้นเท้าจิกลง

นพ. ปวริศร กล่าวว่า โรคเท้าปุกนี้เป็นที่รู้จักและสนใจกันมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเราอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ โรคเท้าปุกแท้ และโรคเท้าปุกเทียม ซึ่งอาจแยกคร่าวๆ ได้โดยดูจากความรุนแรงของความผิดปกติที่พบ

โดยโรคเท้าปุกเทียมจะพบว่า ความผิดรูปของเท้ามีลักษณะนิ่ม เพียงการดัดเบาๆ ก็จะเห็นเท้าคืนรูปได้ เท้าปุกชนิดนี้เท้าไม่ได้มีความผิดปกติที่เกิดกับโครงสร้างของเท้าที่แท้จริง สาเหตุเชื่อว่าอาจเกิดจากการที่เด็กขดตัวอยู่ในท้องแม่เป็นเวลานาน หรืออาจหาสาเหตุไม่พบเลย เท้าปุกแบบนี้สามารถหายเองได้ หรืออาจใช้เพียงการเขี่ยเท้าเพื่อกระตุ้นให้เด็กขยับเท้าก็เพียงพอ

ส่วนโรคเท้าปุกแท้นั้น ความผิดปกติของรูปร่างเท้าจะรุนแรงกว่า เห็นได้ชัดเจน และแข็งไม่สามารถดัดให้เท้าคืนกลับมาอยู่ในรูปร่างปกติได้ เท้าปุกแบบนี้ไม่สามารถหายเองได้จำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะหากทิ้งไว้จะก่อให้เกิดความผิดปกติ หรือความพิการถาวรเกิดขึ้นได้ การแยกเท้าปุกทั้ง 2 แบบ ออกจากกันจึงมีความสำคัญ หากไม่แน่ใจควรปรึกษาศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อในเด็ก

สำหรับวิธีการรักษาโรคเท้าปุก นพ. ปวริศร อธิบายว่า มีทั้งการรักษาแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันวิธีการรักษาที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ การรักษาโดยวิธีแบบ Ponseti

ซึ่งหลักของการรักษาแบบนี้คือ การดัดแก้ไขความผิดรูปของเท้าทีละน้อยร่วมกับการใส่เฝือก โดยต้องเปลี่ยนเฝือกทุก 1-2 สัปดาห์ และทำการดัดเท้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจจะประมาณ 6-8 ครั้ง ขึ้นกับความรุนแรง จนได้รูปเท้ากลับมาใกล้เคียงปกติ และมักจะต้องร่วมกับการเจาะยืดเอ็นร้อยหวายในการใส่เฝือกครั้งสุดท้าย

หลังจากเท้าได้รูปที่ดีแล้ว ก็ยังคงต้องใส่อุปกรณ์ช่วยดัดเท้าในเวลาที่เด็กนอนหลับต่อไปอีก 3-4 ปี เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ควรเริ่มรักษาให้เร็วที่สุด เพราะจะได้ผลดีกว่า

และแม้อาจฟังดูแล้วยุ่งยากและใช้เวลา แต่ก็เป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี และมีผลเสียน้อยที่สุด โดยเฉพาะถ้าเทียบกับการผ่าตัดที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเช่นแผลเป็นที่แข็งและเจ็บ หรือความเสื่อมของข้อต่อในเท้าก่อนเวลา การผ่าตัดจึงจะทำในรายที่จำเป็นเท่านั้น

โรคเท้าปุก หรือ เท้าแป (Talipes varus / clubfoot) เป็นความผิดปกติของรูปเท้าซึ่งมักเป็นตั้งแต่แรกเกิด โดยเกิดจากเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูก หรือที่เรียกว่า เอ็นกล้ามเนื้อ (Tendons) สั้นกว่าปกติ โดยอาการผิดปกติมักเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์หรือประมาณสัปดาห์ที่ 8-12 ของการตั้งครรภ์

โรคเท้าปุกสามารถเป็นได้ทั้งแบบอ่อนหรือแบบรุนแรง และในสหรัฐอเมริการมีเด็ก 1 ใน 1,000 คนที่เป็นโรคเท้าปุก

แหล่งข้อมูล

1. เมื่อลูกน้อยเป็นโรคเท้าปุก...ต้องรีบปรึกษาแพทย์ก่อนสายเกินแก้. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000037641[2016, April 19].

2. Clubfoothttp://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/clubfoot/home/ovc-20198067 [2016, April 19].

3. Clubfoothttp://www.massgeneral.org/ortho-childrens/conditions-treatments/clubfoot.aspx [2016, April 19].