เทโมโซโลไมด์ (Temozolomide)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

สมองเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายในการควบคุมความคิด การเคลื่อนไหว รวมไปถึงการจดจำ เรียนรู้ และสั่งการการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายทั้งอวัยวะภายในร่างกายและอวัยวะภายนอก นอกจากเซลล์ประสาทแล้ว สมองยังมีเซลล์อื่นๆร่วมอยู่ด้วย เซลล์หนึ่งที่มีความสำคัญคือ เซลล์แอสโทรไซต์ (Astrocyte) ทำหน้าที่สำคัญในการคัดกรองสารที่อยู่ในหลอดเลือดเข้าสู่สมองและป้อนให้กับเซลล์ประสาท หากถ้าเซลล์นี้เกิดความผิดปกติก็อาจทำให้เกิดเป็นเนื้องอกสมอง/มะเร็งสมองได้ทั้งชนิดที่รุนแรงที่เรียกว่า แอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา (Anaplastic Astrocytoma) และชนิดที่รุนแรงที่สุดคือ ชนิด กลัยโอบลาสโทมามัลทิฟอร์เม (Glioblastoma Multiforme หรือ Glioblastoma หรือย่อว่า GBM/จีบีเอม) ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคเนื้องอกสมองเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่ชัด

ยาเทโมโซโลไมด์ (Temozolomide) ซึ่งในต่างประเทศมีชื่อการค้า เช่นTemodar, Temodal, Temcad จัดเป็นยาต้านมะเร็งในกลุ่ม แอคิเลทติ้ง-เอเจนท์ (Alkylating Agent) คือยาฆ่าเซลล์มะเร็งที่ทำให้ดีเอ็นเอ/DNA ของเซลล์มะเร็งซึ่งเป็นสารรหัสพันธุกรรมเกิดความไม่คงตัวและแตกออก นำไปสู่การตายของเซลล์เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็ง

ปัจจุบันยาเทโมโซโลไมด์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายไทย ใช้ภายใต้การดูแลจากแพทย์ด้านโรคมะเร็งเท่านั้น

ยาเทโมโซโลไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เทโมโซโลไมด์

ยาเทโมโซโลไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

ก. รักษาเนื้องอก/ มะเร็งสมองชนิดกลัยโอบลาสโทมามัลทิฟอร์เม/จีบีเอม (Glioblastoma Multiforme/ GBM)

ข. รักษาเนื้องอก/ มะเร็งสมองชนิดแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา (Anaplastic Astrocytoma/ ไกลโอมาชนิดรุนแรง)

         นอกจากนี้ยังมีการใช้สำหรับรักษาโรคอื่นๆนอกเหนือจากข้อบ่งใช้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน (Unlabeled Use) เช่น

         ก. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เกี่ยวข้องกับทีเซลล์ (Cutaneous T-cell lymphomas; ทีเซลล์เป็นหนึ่งในเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย)
         ข. มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา/มะเร็งไฝ (Melanoma) ซึ่งเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่ง
         ค. มะเร็งของเส้นประสาทชนิดมักพบในเด็ก นิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma; อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งเด็ก)
         ง. เนื้องอกของต่อมไร้ท่อ (Neuroendocrine Tumors) หรือ มะเร็ง/ เนื้องอกเน็ท (NETs)
         จ. มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft Tissue Sarcoma)

ยาเทโมโซโลไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเทโมโซโลไมด์คือ ตัวยาจะเป็นโปรดรัก (Pro-drug) กล่าวคือ ตัวยาอยู่ในรูปไม่ออกฤทธิ์ ต่อเมื่อเข้าสู่ร่างกายจึงจะถูกเปลี่ยนเป็นรูปออกฤทธิ์ โดยยาจะเติมหมู่อัลคิล (Alkylating Agent; หมู่ทางยาเคมีบำบัดชนิดหนึ่ง) เข้าสู่ดีเอ็นเอ/DNA ของเซลล์เนื้องอก (ดีเอ็นเอคือสารรหัสพันธุกรรม) ทำให้ดีเอ็นเอเกิดความไม่คงตัวและแตกออกนำไปสู่การตายของเซลล์มะเร็ง

ยาเทโมโซโลไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเทโมโซโลไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

ก. เภสัชภัณฑ์ยาแคปซูลรับประทาน ขนาดความแรง 5, 20, 100, 140, 180 และ 250 มิลลิกรัม

ข. เภสัชภัณฑ์ยาหยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัมต่อภาชนะบรรจุ

ยาเทโมโซโลไมด์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาเทโมโซโลไมด์มีขนาดรับประทาน/ใช้ยาขึ้นอยู่กับข้อบ่งใช้, ชนิดของโรคมะเร็ง, อาการแสดงของโรค, ความรุนแรงของโรค, และขนาดพื้นที่ผิวของร่างกาย, ซึ่งเป็นวิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษาต่อผู้ป่วยเฉพาะรายไป

ขนาดยานี้โดยทั่วไปทั้งเภสัชภัณฑ์ชนิดแคปซูลรับประทานและชนิดยาหยดเข้าหลอดเลือดดำคือ 75 - 200 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวหนึ่งตารางเมตรต่อวัน (mg/m2/day)

         ทั้งนี้รับประทานยานี้ขณะท้องว่างก่อนนอนร่วมกับน้ำดื่มหนึ่งแก้ว โดยกลืนยาทั้งแคปซูล ห้ามบด เคี้ยว หรือหักเม็ดยาเป็นอันขาด

ก. วิธีการบริหารยา/ใช้ยาชนิดรับประทาน: อาจบริหารเป็นวงจร ตัวอย่างเช่น รับประ ทานยาต่อเนื่อง 5 วันและหยุดเว้นยา 23 วัน เป็นหนึ่งรอบวงจรของยา (28 วัน) และผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยามากกว่า 1 แคปซูลต่อครั้งจากแคปซูลที่มีความแรงแตกต่างกันเพื่อให้ได้รับขนาดยาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ยาแคปซูลแต่ละความแรงของยาอาจมีสีที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจวิธีการรับประทานยาให้ถูกต้องจากเภสัชกรเมื่อรับยา หากสงสัยถึงวิธีการรับประทานยาให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรทันที

         หากแคปซูลเกิดการแตกหักหรือมีตัวยาไหลออกมาจากแคปซูล ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสยาเหล่านี้โดยตรง หากเกิดการสัมผัสโดยตรงกับร่างกายให้ล้างออกทันทีด้วยน้ำเปล่า/สะ อาด

ข. วิธีบริหารเภสัชภัณฑ์ชนิดยาหยดเข้าหลอดเลือดดำ: เภสัชภัณฑ์ชนิดยาหยดเข้าหลอดเลือดดำผู้ป่วยจะต้องได้รับยาในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยระยะการให้ยาแต่ละครั้งนานประมาณ 90 นาทีต่อครั้ง การรับยาอาจบริหารเป็นลักษณะวงจรและขนาดการให้ยาเช่น เดียวกับชนิดแคปซูลรับประทาน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยควรเข้ารับยาตามนัดหมายจากแพทย์อย่างเคร่งครัด

*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาเทโมโซโลไมด์ควรแจ้ง  แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน และสมุนไพรต่างๆ เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ ยาเทโมโซโลไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?)
  • ประวัติโรคเรื้อรังต่างๆโดยเฉพาะโรคตับและโรคไต
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหาก กำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร รวมไปถึงผู้ป่วยชายที่วางแผนที่จะมีบุตรด้วย

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเทโมโซโลไมด์ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลผู้ทำการรักษาดู แลทราบเพื่อขอคำแนะนำ แต่ห้ามรับประทานยาในมื้อถัดไปเป็น 2 เท่าเพื่อทดแทนมื้อยาที่ขาดไป

อนึ่งหากลืมเข้ารับการบริหารยาตามนัดหมายสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดหยดเข้าหลอดเลือดดำ ให้รีบแจ้งให้แพทย์/พยาบาล/โรงพยาบาลทราบโดยทันทีเพื่อเข้ารับยาโดยเร็วที่สุด

ยาเทโมโซโลไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเทโมโซโลไมด์อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)บางประการ เช่น

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • การรับรสอาหารเปลี่ยนไปหรือสูญเสียการรับรสชาติ
  • เกิดแผลในเยื่อบุภายในช่องปากและลำคอ
  • ปวดหัว
  • เหนื่อยล้า  อ่อนเพลีย
  • มึนงง
  • ผมร่วง
  • นอนไม่หลับ
  • การมองเห็นภาพเปลี่ยนไป
  • เกิดปัญหาด้านการจดจำ

*ทั้งนี้ หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

*ยาเทโมโซโลไมด์อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯที่รุนแรง เช่น เกิดอาการเลือดไหล/เลือดออกง่าย สังเกตได้จากการเกิดรอยฟกช้ำหรือจ้ำเลือดตามผิวหนัง, ถ่ายอุจจาระที่เหนียวและมีสีดำเข้มหรือมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด, อาเจียนแบบมีเลือดปนหรือสีเหมือนกาแฟ/อาเจียนเป็นเลือด, ผู้ป่วยอาจมีอาการเหมือนเป็นโรคหวัดบ่อยๆ เช่น มีไข้ เจ็บคอ/คออักเสบ  แน่นหน้าอก หรือมีอาการเหนื่อยล้าอย่างรุนแรง หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก,  เป็นลมชัก, ปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับมีอาการเหมือนโรคดีซ่าน, หรือมีปัสสาวะน้อยลง,   ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉินเมื่อมีอาการรุนแรงดังกล่าว   

 รวมไปถึงการรับประทานยานี้แล้วเกิดการแพ้ยาที่อาการแสดง เช่น  มีผื่นคันขึ้นตามตัว, อาการบวมบริเวณเปลือกตา/หนังตาและ/หรือริมฝีปาก, หายใจไม่สะดวกติดขัด,  ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉินเช่นกัน

นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเทโมโซโลไมด์ชนิดยาหยดเข้าหลอดเลือดดำ อาจมีอาการไม่พึงประสงค์ฯอีกประการคือ ที่ตำแหน่งบริเวณการให้ยา เช่น มีรอยจ้ำห้อเลือดหรือปวด อาการเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเองในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากมีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอา การรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาเทโมโซโลไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเทโมโซโลไมด์ เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับและโรคไต
  • ไม่ใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตร
  • สำหรับสตรีที่วางแผนที่จะตั้งครรภ์หรือกำลังมีครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนการใช้ยานี้เนื่องจากยานี้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้
  • ยานี้สามารถถูกขับออกมาได้ร่วมกับน้ำอสุจิ(อสุจิ-น้ำกาม)ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวอ่อนหากเกิดการปฏิสนธิ ผู้ป่วยชายควรวางแผนครอบครัวร่วมกับฝ่ายหญิงระหว่างการใช้ยานี้ ปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีคุมกำเนิดที่ปลอดภัยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิดรวมยาเทโมโซโลไมด์ ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเทโมโซโลไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเทโมโซโลไมด์อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ เช่น

         ก. หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่มร่วมกับยาเทโมโซโลไมด์: เช่น วัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccine, วัคซีนที่ยังมีเชื้อโรคอยู่แต่เป็นเชื้อที่อ่อนแรงที่ไม่สามารถก่อโรคได้ในคนปกติ), ยาโคลซาพีน (Clozapine) และยาอื่นที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus) ยาพิโมโครไลมัส (Pimecrolimus) เนื่องจากผู้ป่วยที่ใช้ยาเทโมโซโลไมด์โดยทั่วไปจะมีระดับภูมิคุ้มกันฯต่ำกว่าปกติ การใช้ยาร่วมกับวัคซีนเชื้อเป็น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคจากวัคซีน ยาโคลซาพีนเองก็มีผลข้างเคียงอาจลดจำนวนเม็ดเลือดขาว หรือยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆก็จะกดระดับภูมิคุ้มกันฯลง อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเกิดการติดเชื้อโรคเพิ่มขึ้น

         ข. ยาบางกลุ่มมีผลต่อระดับยาเทโมโซโลไมด์ในกระแสเลือด: ยาบางชนิดอาจทำให้ระดับยาเทโมโซโลไมด์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น เช่น ยารักษาโรคกระดูกพรุน ที่ชื่อยาดีโนซูแมบ/Denozumab; ยารักษาอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เช่น ยาพิโมโครไลมัส/Pimocrolimus ยาทาโครไลมัส/Tacrolimus; ยาลดอาการอักเสบและรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ โรคซีโอพีดี (Chronic Obstructive Pulmonary Disease; COPD) เช่น ยาโรฟูมิลาส/Rofumilast; ยารักษาโรคมะเร็งเต้านม เช่น ยาทราสทูซูแมบ/Trastuzumab; ยาที่เป็นอนุพันธ์ของกรดวัลโพรอิก/ Valproic Acid เช่น ยาโซเดียมวาลโพรเอด/Sodium Valproate ซึ่งเป็นยากันชัก/ยาต้านชัก เป็นต้น  ซึ่งต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยาเทโมโซโลไมด์อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษายาเทโมโซโลไมด์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเทโมโซโลไมด์  เช่น

ก.ชนิดแคปซูล:

  • เก็บยานี้ในที่แห้ง อุณหภูมิห้อง (ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส/Celsius)
  • หลีกเลี่ยงการเก็บยาใกล้กับสถานที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ หรือ ห้องครัว
  • เก็บยานี้ในภาชนะบรรจุที่ผู้ผลิตจัดไว้ให้ ขวดยาได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องยาจากความชื้นในสิ่งแวดล้อม ปิดฝาภาชนะให้สนิทตลอดเวลา
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ข.ชนิดยาหยดเข้าหลอดเลือดดำ:

  • เก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง
  • ภายหลังการผสมใช้แล้ว ยามีความคงตัว ณ อุณหภูมิห้องเป็นเวลาประมาณ 14 ชั่วโมง การให้ยาโดยทั่วจึงควรกระทำภายในระยะเวลาดังกล่าว
  • ปรึกษาฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงวิธีการเก็บรักษายาเพิ่มเติม

ยาเทโมโซโลไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเทโมโซโลไมด์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
ทีโมดัล (Temodal) บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด
โซโลเทม (Zolotem) บริษัท อัลลายแอนซ์ ฟาร์มา จำกัด

 

บรรณานุกรม

  1. ศรีณย์ นันทอารี. เนื้องอกสมองสำหรับประชาชนตอนที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.
  2. American Pharmacists Association. Temozolomide. Drug Information Handbook with Trade names index. 23;2014:2025-2028”
  3. https://www.nice.org.uk/guidance/ta23/resources/guidance-on-the-use-of-temozolomide-for-the-treatment-of-recurrent-malignant-glioma-brain-cancer-pdf-2294454507973 [2022,April16]
  4. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancer-in-general/treatment/cancer-drugs/drugs/temozolomide [2022,April16]
  5. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/7027 [2022,April16]
  6. https://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/t/temodar_capsules/temodar_ppi.pdf [2022,April16]
  7. http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_file/20170503183704.pdf [2022,April16]
  8. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=6&rctype=1C&rcno=5000146&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,April16]