เที่ยวป่าระวัง ! สครับไทฟัส (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตัวไรอ่อนมีขนาดเท่าปลายเข็มหมุด มีสีส้มอมแดง มองเห็นด้วยตาเปล่า อาศัยอยู่ตามพื้นดินบริเวณที่ชุ่มชื้น มีใบไม้ ใบหญ้า ปกคลุม ไรอ่อนจะต้องกินน้ำเลี้ยงเซลล์ของสัตว์หรือคน จึงจะเจริญเติบโตเป็นไรแก่

นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2556 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส จำนวน 9,729 ราย เสียชีวิต 7 ราย ภาคเหนือมีผู้ป่วยมากที่สุด จำนวน 5,229 ราย ส่วนใหญ่มักจะเป็นจังหวัดที่มีป่าเขา รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,121 ราย ภาคใต้ 1,204 ราย และภาคกลาง 175 ราย

โดยผู้ป่วยเกือบร้อยละ 90 อาศัยในเขตชนบท ทั้งนี้หากหลังกลับจากเที่ยวป่าหรือกางเต๊นท์นอนตามพื้นหญ้าในช่วงฤดูหนาวภายใน 2 สัปดาห์ และมีอาการป่วย คือมีไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ มีรอยแผลที่ผิวหนังคล้ายถูกบุหรี่จี้ ขอให้คิดถึงโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบทันทีด้วย เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันการเสียชีวิต

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่มียารักษาให้หายได้ ดังนั้น ในการป้องกันโรคนี้ ประชาชนที่จะไปท่องเที่ยวตั้งแค้มป์ไฟ กางเต๊นท์นอนในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ

ควรแต่งกายให้มิดชิด ใส่รองเท้า สวมถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บชายเสื้อเข้าในกางเกง ทายาป้องกันแมลงกัดตามแขนขา ซึ่งการทาครั้งหนึ่งจะออกฤทธิ์ป้องกันได้นาน 4 ชั่วโมง และให้รีบอาบน้ำให้สะอาดหลังออกจากป่า ซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ซักให้สะอาดทันที เพราะตัวไรอาจติดมากับเสื้อผ้าได้

สครับไทฟัสจะตอบสนองต่อการรักษาได้ทันที โดยผู้ป่วยจะหายไข้ภายใน 24-48 ชั่วโมง การรักษาในระยะแรกของการเป็นโรคจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและร่นระยะเวลาพักฟื้น สำหรับอัตราการเสียชีวิตทางตอนเหนือของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 15 เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความล่าช้าในการส่งตัวรักษา การวินิจฉัยโรค และการรักษาไม่ถูกโรค

โรคนี้อาจรุนแรงได้ โดยอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้อยู่ที่สภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าชัดว่าเป็นเพราะอะไร เช่น มีการเสียชีวิตร้อยละ 3 ในไต้หวัน จนถึงร้อยละ 30 ในญี่ปุ่นตอนเหนือ

ส่วนการรักษามักให้ยา Doxycycline และ ยา Chloramphenicol ประมาณ 3-7 วัน (ผู้ใหญ่ 200 มก./วัน เด็กให้วันละ 2 ครั้งที่ขนาด 2.2 มก./น้ำหนัก 1 กก.) แต่หากใช้ยา 2 ตัวนี้แล้วไม่ได้ผล หรือกรณีผู้ป่วยเป็นหญิงมีครรภ์ก็อาจจะให้ยา Rifampicin (600-900 มก./วัน) หรือ ยา Azithromycin (500 มก.ในวันแรก และลดลงเหลือ 250 มก./วัน ในวันถัดไป)

นอกจากนี้อาจกินยาป้องกันด้วยการกินยา Doxycycline 200 มก. สัปดาห์ละครั้ง ระหว่างที่อยู่ในพื้นที่ที่มีโรคนี้อยู่ โดยเริ่มกินครั้งแรกก่อนเดินทาง 3 วัน และกินต่อจนกระทั่ง 6 สัปดาห์หลังเดินทางกลับออกมาแล้ว

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.เตือนนักท่องป่านอนเต้นท์ระวัง “ไรอ่อน” กัดในร่มผ้าติดโรคสครับไทฟัสhttp://www.naewna.com/local/81999 [2013, December 21].
  2. scrub typhus. http://global.britannica.com/EBchecked/topic/530106/scrub-typhus [2013, December 21].
  3. Orientia tsutsugamushi (Scrub Typhus). http://www.antimicrobe.org/new/r02.asp [2013, December 22].