เที่ยวป่าระวัง ! สครับไทฟัส (ตอนที่ 1)

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวเตือนประชาชนที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น สูดอากาศ เที่ยวป่า เพื่อชมความงามธรรมชาติในช่วงฤดูหนาวว่า ให้ระวังตัวไรอ่อน (Chigger) กัด ซึ่งมักเกิดขึ้นโดยบังเอิญ

โดยไรชนิดนี้ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) หรือไข้รากสาดใหญ่ ซึ่งตัวไรอ่อนจะอาศัยอยู่ในขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู กระแต กระจ้อน

เมื่อกัดคนจะปล่อยเชื้อที่เรียกว่า ริกเก็ตเซีย (Rickettsia) เข้าสู่คน โดยอวัยวะที่ตัวไรอ่อนมักจะเข้าไปกัดคือ บริเวณร่มผ้า เช่น อวัยวะสืบพันธุ์ ขาหนีบ เอว ลำตัวบริเวณใต้ราวนม รักแร้ และมักพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการป่วยคือ มีไข้สูง ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ปวดศีรษะบริเวณขมับและหน้าผากอย่างรุนแรง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา มีอาการไอแห้งๆ ผู้ป่วยร้อยละ 30-40 จะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ (Eschar) ที่บริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด ลักษณะมีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้

ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 อาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ อาจเสียชีวิตได้ โดยพื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสมากที่สุดได้แก่ ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

สครับไทฟัส (Scrub typhus หรือ Tsutsugamushi disease) หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันที่เกิด โดยมีเชื้อก่อโรคคือ Rickettsia tsutsugamush แพร่เชื้อมาสู่คนโดยมีไรอ่อน (Chigger หรือ Laval-stage trombiculid mites) เป็นพาหะนำโรค โดยในระยะที่เป็นตัวอ่อน ไรเหล่านี้จะติดเชื้อมาจากสัตว์ฟันแทะ (Rodents) หรือสัตว์ตัวเล็ก แล้วมากัดคน ทำให้เกิดการติดเชื้อ

สครับไทฟัสมักเกิดในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงในแถบชนบท มีการประมาณว่า ในแต่ละปีมีประชากรทั่วโลกประมาณ 1 พันล้านคนที่มีความเสี่ยงและมีประชากร 1 ล้านคนที่เป็นโรคนี้ สครับไทฟัสพบมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตก (เกาหลี ออสเตรเลีย) รวมถึงญี่ปุ่น อินเดีย และปากีสถาน ซึ่งในบริเวณนี้มีอัตราการเกิดโรคประมาณ 1/4,000

หลังจากที่มีระยะฟักตัวอยู่ประมาณ 10 วัน อาการจะเริ่มปรากฏด้วย การมีไข้สูง ปวดศีรษะ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (Myalgia) และคลื่นไส้ มีผื่นคัน ลักษณะแผลจะคล้ายกับแผลบุหรี่จี้เรียกว่า “Eschar” ในบริเวณที่โดนไรกัด และมักจะมีอาการปวดบริเวณต่อมน้ำเหลือง นอกจากนี้ยังพบอาการม้ามโตของผู้ป่วย 1 ใน 3 คน

ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่อาจมีอาการปอดอักเสบ (Pneumonitis) เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ (Meningoencephalitis) อวัยวะหลายส่วนไม่ทำงาน เลือดออก (Bleeding) และแม้แต่เสียชีวิต โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา ทั้งนี้หลังการรักษาแล้วอาจกลับมาเป็นได้อีกหากได้รับยาไม่ครบโดส (Dose) แต่จะมีความรุนแรงน้อยกว่า

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.เตือนนักท่องป่านอนเต้นท์ระวัง “ไรอ่อน” กัดในร่มผ้าติดโรคสครับไทฟัสhttp://www.naewna.com/local/81999 [2013, December 21].
  2. scrub typhus. http://global.britannica.com/EBchecked/topic/530106/scrub-typhus [2013, December 21].
  3. Scrub typhus. http://www.orpha.net/consor/cgi-bin/OC_Exp.php?lng=en&Expert=83317 [2013, December 21].