เทคโนโลยีทางการแพทย์ ตอน การตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง

เทคโนโลยีทางการแพทย์

องค์ประกอบสำคัญหนึ่งของสมอง คือ น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (CSF: cerebrospinal fluidหรือ ซีเอสเอฟ) ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในซีเอสเอฟ (CSF) นั้นมีหลายกรณี เช่น

  • การติดเชื้อเยื่อหุ้มสมอง (meninges) ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส รา วัณโรค เป็นต้น
  • การอักเสบของเนื้อสมอง (encephalitis) ได้แก่ เชื้อไวรัส หรือฝีในสมอง เป็นต้น
  • เลือดออกใต้ชั้นอะแรชนอยด์ (subarachnoid hemorrhage)
  • โพรงน้ำในสมองโต (hydrocephalus)
  • มะเร็งกระจายไปที่เยื่อหุ้มสมอง (carcinomatosis meningitis)
  • การอักเสบของรากประสาท หรือเส้นประสาท เช่น โรคจีบีเอส (GBS: Guillain-Barré Syndrome)

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในซีเอสเอฟนั้น แพทย์จะต้องใช้วิธีการเจาะหลัง (lumbar puncture) เพื่อนำซีเอสเอฟออกมาตรวจ ก่อนการเจาะหลังแพทย์จะต้องประเมินก่อนว่าไม่มีข้อห้ามในการเจาะหลัง ได้แก่

  • ไม่มีก้อนเนื้องอกหรือโรคเนื้องอกสมอง โดยการตรวจร่างกายไม่พบว่ามีความดันในโพรงกระโหลกศีรษะสูงหรือบางกรณีต้องตรวจซีทีสแกนสมองก่อนเจาะหลัง เช่น ในผู้ป่วยติดเชื้อเอช ไอ วี
  • ไม่มีภาวะเลือดออกง่าย
  • ไม่มีแผลบริเวณที่เจาะหลัง
  • ผู้ป่วยต้องอนุญาตยินยอมให้แพทย์เจาะหลัง

เมื่อเจาะหลังแล้ว แพทย์จะต้องวัดความดันของซีเอสเอฟ นำซีเอสเอฟมาตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาว ชนิดของเม็ดเลือดขาว เซลล์มะเร็ง เซลล์ชนิดต่างๆ หรือการเพาะเชื้อ เพื่อให้การวินิจฉัยโรค

นอกจากนี้การเจาะหลังอาจใช้ในการฉีดยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งบางชนิด หรือการเจาะระบายซีเอสเอฟเพื่อลดความดันในโพรงกระโหลกศีรษะด้วย

ดังนั้นการที่แพทย์ขออนุญาตผู้ป่วยหรือญาติในการเจาะหลังเพื่อนำซีเอสเอฟมาตรวจ เพื่อที่จะได้ให้การวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องนั้น เป็นสิ่งที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นถึงจะต้องเจาะหลัง จึงอยากให้ผู้ป่วยหรือญาติเข้าใจประเด็นนี้