เทคโนโลยีทางการแพทย์ ตอน การตรวจเอ็มอาร์ไอสมอง

เทคโนโลยีทางการแพทย์

อายุรแพทย์ประสาทวิทยา

การตรวจซีทีสแกน (CT scan brain) เป็นการตรวจที่ทันสมัยและเป็นที่ต้องการตรวจเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ถ้าในปัจจุบันผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทส่วนหนึ่งจะมาพบแพทย์ด้วยการถือซองใส่แผ่นฟิลมส์หรือถุงใส่ฟิลมส์เอ็มอาร์ไอมาพบแพทย์ระบบประสาทบ่อยมาก ถึงแม้การตรวจดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากถึง 10,000 – 12,000 บาท และก็มีเฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะผู้ป่วยเข้าใจว่าการตรวจเอ็มอาร์ไอนั้นสามารถบอกได้ว่ามีโรคอะไรที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยนั้น ๆ และบางรายเข้าใจว่าเมื่อได้รับการตรวจแล้วจะทำให้อาการดีขึ้น เสมือนว่าการตรวจเอ็มอาร์ไอนี้เป็นการรักษาอย่างหนึ่ง เราลองมาติดตามดูว่าการตรวจเอ็มอาร์ไอนั้น แพทย์จะส่งตรวจเมื่อใด แล้วการตรวจนี้ดีกว่าการตรวจซีทีสแกนอย่างไร

การตรวจเอ็มอาร์ไอนั้นดีกว่าการตรวจซีทีสแกนในประเด็นต่อไปนี้ คือ การตรวจเอ็มอาร์ไอจะมีความคมชัดมากกว่าการตรวจซีทีสแกน สามารถเห็นรอยโรคขนาดเล็กๆ เช่น ขนาด 1-2 มิลลิเมตรได้ สามารถตรวจบริเวณสมองส่วนที่มีกระดูกบดบังได้ เช่น บริเวณสมองส่วนกลีบขมับ (temporal lobe) เห็นรอยโรคบริเวณผิวสมองที่มีสาเหตุตั้งแต่กำเนิด (cortical dysplasia) รอยโรคส่วนเนื้อสมองสีขาว (white matter) รอยโรคของเยื่อหุ้มสมอง หรือชั้นดูรา และสามารถสร้างภาพได้ในหลายระนาบ และ 3 มิติ รวมทั้งตรวจหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำได้ ตรวจวัดการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังได้

ข้อบ่งชี้การส่งตรวจทั่วไปแล้วก็คล้ายกับการส่งตรวจซีทีสแกน เพียงแต่ต้องการเห็นรายละเอียดชัดขึ้น ได้แก่

  1. กรณีที่ตรวจซีทีสแกนไม่พบความผิดปกติหรือเห็นแต่ไม่ชัดเจน
  2. ผู้ป่วยลมชักที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา สงสัยสาเหตุบริเวณสมองส่วนกลีบขมับ ผิวสมองตั้งแต่กำเนิด
  3. ผู้ป่วยสงสัยภาวะสมองส่วนสมองน้อย (cerebellum) ฝ่อ
  4. ผู้ป่วยสงสัยภาวะโพรงน้ำในสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ (normal pressure hydrocephalus)
  5. ผู้ป่วยสงสัยรอยโรคบริเวณเนื้อสมองสีขาว (white matter disease)
  6. ผู้ป่วยสงสัยการกระจายของมะเร็งมาที่สมอง (brain metastases)
  7. ผู้ป่วยสงสัยรอยโรคบริเวณชั้นดูรา เช่น การอักเสบของดูรา (pachymeningitis)
  8. ผู้ป่วยสงสัยรอยโรคของต่อมใต้สมอง (pituitary gland)
  9. ผู้ป่วยสงสัยรอยโรคบริเวณโพรงหลอดเลือดดำ (venous sinus, cavernous sinus)
  10. ผู้ป่วยสงสัยความผิดปกติของหลอดเลือด

ข้อจำกัดที่สำคัญของการตรวจเอ็มอาร์ไอ คือ

  1. ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (cardiac pacemaker)
  2. ผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด เพราะท้องมีขนาดใหญ่เข้าอุโมงค์ตรวจไม่ได้
  3. ผู้ป่วยกลัวช่องแคบ
  4. ผู้ป่วยมีเศษโลหะในดวงตา
  5. ผู้ป่วยที่มีสัญญาณชีพไม่มั่นคง
  6. หาสถานพยาบาลที่มีเครื่องมือนี้ได้น้อยมาก เพราะมีเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น

ปัญหาที่พบจากการตรวจเอ็มอาร์ไอ คือ ผู้ป่วย ญาติมีความเข้าใจที่ไม่ถุกต้อง คิดว่าการตรวจเอ็มอาร์ไอจะบอกสาเหตุหรือหาโรคได้ทุกราย จึงเกิดการส่งตรวจที่เกินความจำเป็นบ่อยๆ ก่อให้เกิดความสิ้นเปลือง และกรณีที่ความต้องการการส่งตรวจของญาติและผู้ป่วย แต่แพทย์เห็นต่างออกไป ก็อาจเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ผมมีคำแนะนำว่าการส่งตรวจเอ็มอาร์ไอนั้น ควนต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมองก่อน เพื่อให้พิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องส่งตรวจหรือไม่ จะได้เกิดความคุ้มค่าในการส่งตรวจมากที่สุด ไม่ควรไปตรวจเองที่ศูนย์การตรวจเอ็มอาร์ไอ โดยไม่มีแพทย์ส่งตรวจ