เทคโนโลยีทางการแพทย์ ตอน การตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์

เทคโนโลยีทางการแพทย์

การตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า ซีทีสแกน (CT scan) การตรวจดังกล่าวสามารถบอกความผิดปกติต่างๆ ในสมองได้มากมาย เช่น เนื้องอก สมองขาดเลือด เลือดออก หินปูน โพรงน้ำสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โพรงไซนัส โพรงหลอดเลือดดำ และอื่นๆ ที่เป็นอวัยวะในโพรงกะโหลกศีรษะ จึงเป็นการตรวจที่คนส่วนใหญ่ต้องการตรวจ เพราะเข้าใจว่าจะสามารถบอกโรคต่างๆ ที่อยู่ในสมองได้ เช่น ปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรง ชัก จึงต้องการให้แพทย์ส่งตรวจดังกล่าว หรือไม่ก็ไปตรวจเองตามศูนย์คอมพิวเตอร์ของเอกชนที่มีอยู่เกือบทุกจังหวัด การตรวจดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 4000-5000 บาท ก็ให้เกิดค่าใช้จ่ายอย่างมาก บางกรณีก็เหมาะสม บางกรณีก็ก่อให้เกิดความสิ้นเปลือง เราลองมาดูว่าแพทย์จะส่งตรวจซีทีสแกนด้วยข้อบ่งชี้อะไร เพื่อที่จะได้เข้าใจและนำไปใช้ดูแลตนเองได้ดีขึ้น

กรณีผู้ป่วยมีอาการผิดปกติต่อไปนี้ที่แพทย์ส่งตรวจซีทีสแกน ได้แก่

  1. อาการปวดศีรษะที่แพทย์สงสัยว่าจะเกิดจากเนื้องอกสมอง เลือดออกในสมอง สมองอักเสบ ฝีในสมอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการปวดศีรษะที่เป็นรุนแรง การดำเนินโรคอย่างรวดเร็ว มีไข้ร่วมกับอาการปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะภายหลังประสบอุบัติเหตุ มีอาการซึม สับสน ไม่รู้สึกตัว ชักร่วมด้วย หรือปวดศีรษะในผู้ป่วยทานยาละลายลิ่มเลือด
  2. อาการอ่อนแรงที่แพทย์สงสัยว่ามีโรคในสมองที่พบบ่อยๆ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง ฝีในสมอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการแขนขาอ่อนแรงอย่างรวดเร็ว หรือค่อยๆ เป็นมากขึ้นร่วมกับมีอาการอาเจียน มองเห็นภาพซ้อน อ่อนแรงร่วมกับมีไข้ในผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดเขียว หูน้ำหนวก
  3. ผู้ประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะอย่างแรง เช่น สลบ สูญเสียความจำ แขนขาอ่อนแรง เลือดออกจากช่องหู ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน ผู้ป่วยที่ทานยาละลายลิ่มเลือด
  4. อาการชักในผู้ป่วยที่ทานยาละลายลิ่มเลือด หลังชักมีแขนขาอ่อนแรง ชักแบบเฉพาะที่แล้วกระจายทั่วทั้งตัว ชักครั้งแรกในผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปี หรืออาการชักที่ควบคุมไม่ได้
  5. ความรู้สึกตัวผิดปกติ เช่น ซึม สับสนที่หาสาเหตุอื่นๆ ไม่พบ หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรง ชัก ไข้สูง ผู้ป่วยที่มีโรคตับวาย ไตวาย การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  6. อาการตามัวที่สงสัยว่ามีรอยโรคในสมอง เช่น มองเห็นภาพซ้อนเมื่อมอง 2 ตา มองเห็นภาพไม่เต็มลานสายตา (visual field defect) ตามัวแต่ตรวจดวงตาไม่พบความผิดปกติ
  7. อาการชาบริเวณแขนขา ลำตัวด้านใดด้านหนึ่ง ชาร่วมกับอ่อนแรงของแขนขา ลำตัว
  8. อาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เป็นขึ้นมาอย่างเร็ว โดยไม่มีสาเหตุอื่นๆ อาการเป็นเพียงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
  9. อาการการได้ยินผิดปกติร่วมกับอาการผิดปกติของระบบประสาทอื่นๆ เช่น ชาใบหน้า แขนขาอ่อนแรง
  10. อาการอื่นๆ ที่พบไม่บ่อย เช่น ความจำลดลง เดินเซ ปัสสาวะราด ที่แพทย์สงสัยว่าจะมีรอยโรคในสมอง

การส่งตรวจซีทีสแกนนั้นจะส่งตรวจแบบทันทีหรือนัดหมายล่วงหน้า กรณีที่อาการผิดปกติเป็นขึ้นมาอย่างเร็วหรือเกิดภายหลังอุบัติเหตุ สงสัยภาวะติดเชื้อ แพทย์จะส่งตรวจทันที แต่ถ้าอาการค่อยเป็นค่อยไป ไม่รุนแรง หรือเพียงแค่สงสัยต้องการตรวจให้แน่ใจเท่านั้นว่าไม่มีสาเหตุในสมอง แพทย์ก็จะพิจารณาส่งตรวจแบบนัดหมายล่วงหน้า ปัญหาที่พบบ่อยๆ ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย คือ แพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่จำเป็นต้องตรวจแต่ผู้ป่วยต้องการตรวจ เพราะผู้ป่วยมีความกังวลว่าจะเป็นโรคร้ายแรง แต่แพทย์เห็นว่าไม่จำเป็น เช่น มีอาการปวดศีรษะมาเป็นระยะเวลาสิบๆ ปี โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะไม่รุนแรง ไม่สลบ เป้นต้น

การแก้ปัญหาที่เกิดจากความต้องการไม่ตรงกันนั้น ควรที่จะต้องค่อยๆ พูด ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ได้อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ ส่วนผู้ป่วยก็ควรไว้วางใจในตัวแพทย์และทุกๆฝ่าย ก็ต้องให้ความเคารพในความคิดเห็นและบทบาท หน้าที่ของแต่ละฝ่าย