เทคโนโลยีทางการแพทย์ ตอน Smart Phone กับการแพทย์

เทคโนโลยีทางการแพทย์

ก่อนปี พ.ศ. 2551 ผมเป็นคนหนึ่งที่ไมได้ใช้โทรศัพท์มือถือ เนื่องด้วยเพราะมีภารกิจตรวจรักษาผู้ป่วยตลอดเวลา การที่ต้องรับโทรศัพท์ระหว่างตรวจรักษาผู้ป่วยอาจทำให้เสียสมาธิและส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วย ต่อมาต้องผมรับผิดชอบงานใหม่ คือ การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือด เนื่องจากมีการรักษาใหม่ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำที่แขน เพื่อไปละลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดในสมอง ผู้ป่วยที่เกิดอาการอัมพาตจากการที่สมองขาดเลือดมาเลี้ยงต้องรีบมาโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาเร็วที่สุด โดยการรักษานั้นต้องรีบให้การรักษาให้เร็วที่สุดภายในเวลาไม่เกิน 270 นาที หรือที่เรียกว่า 270 นาทีชีวิต เนื่องจากทุกๆ นาที่ผ่านไปเนื้อสมองส่วนขาดเลือดก็จะมีปริมาณมากขึ้น โอกาสผู้ป่วยจะหายเป็นปกติก็ยิ่งจะลดลง เป็นเหตุให้ผมต้องใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ได้ติดต่อกับแพทย์ผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา ต่อมาเมื่อมี Smart Phone ก็ยิ่งได้ประโยชน์จากโทรศัพท์มากยิ่งขึ้น เพราะสามารถถ่ายภาพ คลิปวีดีโอของผู้ป่วย ภาพการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวนั้นมาตัดสินใจให้การรักษาได้อย่างรวดเร็ว แม้จะไม่ได้อยู่ที่ห้องตรวจแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลก็ตาม รวมทั้งสามารถใช้การสร้าง Line group เพื่อให้คำปรึกษาต่อแพทย์ที่อยู่ต่างโรงพยาบาล ต่างสถานที่ได้ หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยที่ติดต่อมาขอคำปรึกษาก็สามารถส่งรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหวของผู้ป่วยมาปรึกษากับผมได้

การรู้จักใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อชีวิตของเราและคนไทยทุกคน ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาผมจึงต้องนำโทรศัพท์ติดตัวตลอดเวลา โดยไม่เคยปิดเครื่อง และไม่เคยเปลี่ยนหมายเลข เพราะต้องให้ทุกคนสามารถติดต่อผมได้ตลอดเวลา