เทคโนโลยีทางการแพทย์ ตอน การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เทคโนโลยีทางการแพทย์

การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ การเลือกใช้เทคโนโลยีตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ได้ผลตรวจแม่นยำ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจ และเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

สิ่งแรกของขั้นตอนการตรวจรักษาผู้ป่วย คือ การเริ่มต้นด้วยการซักประวัติทางการแพทย์ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางการเจ็บป่วยให้มากที่สุด บางครั้งเพียงแค่การสอบถามข้อมูลด้านการเจ็บป่วยก็สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ เช่น อาการปวดหัว ปวดใบหน้า เป็นต้น การซักประวัติที่ดีจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการวางแผนว่าจะตรวจร่างกายอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบกับประวัติ อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนก่อนหน้านี้ว่า ร้อยละ 80-90 ก็สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาโรคได้ แต่ถ้าต้องการการตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำมากขึ้น หรือต้องอาศัยการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยก็ต้องใช้เทคโนโลยี ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • กรณีผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรงด้านขวาหลังตื่นนอน ร่วมกับอาการปากเบี้ยว แพทย์สงสัยเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด จำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง
  • ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงขา 2 ข้าง ชาตั้งแต่เอวลงมา ปัสสาวะไม่ออก แพทย์คิดถึงความผิดปกติของไขสันหลัง จึงส่งตรวจเอ็มอาร์ไอของไขสันหลัง
  • ผู้ป่วยมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดตึงต้นคอ คิดถึงภาวะติดเชื้อเยื่อหุ้มสมอง จึงเจาะตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง เพื่อนำน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมาตรวจรายละเอียดว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ เชื้ออะไร

ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรครวมถึงวางแผนการรักษาได้ด้วย แต่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสิ่งที่นำมาใช้เสมอ เพราะการตรวจบางครั้งก็อาจเป็นผลลบได้ ทั้งๆที่มีโรคนั้นจริงๆ เรียกว่าผลลบปลอม หรือว่าไม่มีโรคก็ตรวจพบ เรียกว่าผลบวกปลอม

ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือผู้ป่วยหรือญาติต้องการให้แพทย์ใช้เทคโนโลยีตรวจ แต่แพทย์เห็นว่าไม่จำเป็น เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง แพทย์วินิจฉัยเป็นโรคปวดศรีษะเรื้อรัง แต่ผู้ป่วยสงสัยเป็นเนื้องอก ดังนั้น 2 ฝ่ายไม่เข้าใจกัน ก็อาจเกิดความขัดแย้งได้ ผมแนะนำว่าต้องพูดคุยกัน และต้องไว้วางใจเชื่อใจแพทย์บ้าง ทุกๆเหตุการณ์ก็น่าจะลงเอยด้วยดี