เทคโนโลยีทางการแพทย์ ตอน การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในโรงพยาบาล

เทคโนโลยีทางการแพทย์

การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในโรงพยาบาลมีมากมาย แพทย์และทีมสุขภาพจะเลือกใช้ตามความเหมาะสม แต่สิ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน คือ การใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม ทั้งในส่วนของแพทย์ ทีมสุขภาพและผู้ป่วยเอง ผมขอสรุปเป็นกรณีต่างๆ ต่อไปนี้

  1. การใช้เทคโนโลยีมากเกินไป เนื่องจากผู้ป่วยขอตรวจ เช่น การส่งตรวจซีทีสแกน เอมอาร์ไอมากเกินไป เพราะเข้าใจว่าเป็นการตรวจที่จะสามารถบอกได้ว่าอาการเจ็บป่วยนั้นมีสาเหตุจากอะไร หรือเข้าใจว่าการตรวจต่างๆ นั้นจะทำให้ผู้ป่วยสบายใจมากขึ้น เช่น อาการปวดศีรษะเรื้อรังก็ต้องการตรวจเอ็มอาร์ไอหรือซีทีสแกนสมอง
  2. การส่งตรวจมากเกินความเหมาะสม เนื่องจากแพทย์ไม่มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค เช่น ผู้ป่วยอาการปวด อ่อนแรงของแขน ขาส่วนต้น (proximal muscle weakness) ทั้งแขนและขา โดยไม่มีอาการชา ซึ่งน่าจะเกิดจากโรคของกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งแพทย์ควรส่งตรวจเอ็นไซม์กล้ามเนื้อ แต่แพทย์ส่งตรวจเอ็มอาร์ไอของสมอง ซึ่งผลการตรวจก็ไม่พบความผิดปกติ และไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ ก่อให้เกิดความสิ้นเปลือง
  3. การส่งตรวจบ่อยเกินความเหมาะสม เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีภาวะไขมันในเลือดสูง แพทย์สั่งตรวจระดับไขมันทุกเดือน ส่งผลให้เกิดความสิ้นเปลื้องอย่างมาก หรือกรณีผู้ป่วยได้รับยาลดไขมันในเลือด กลัวว่าจะเกิดผลแทรกซ้อนทำให้มีกล้ามเนื้ออักเสบ จึงขอให้แพทย์ส่งตรวจเลือดทุกครั้งที่มาติดตามการรักษา ก็เป็นการตรวจที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
  4. การใช้เทคโนโลยีในการวินิจฉัยโรคหรือรักษาโรคมากกว่าการใช้อาการทางคลินิก ก่อให้เกิดปัญหาคือ การใช้เทคโนโลยีมากเกินความเหมาะสม ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองและอาจก่อให้เกิดการวินิจฉัยโรคผิดพลาดได้ เนื่องจากเกิดผลบวกปลอม หรือผลลบปลอมจากการส่งตรวจ
  5. การใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารข้อมูล ทำให้ละเลยไม่ดูผู้ป่วยจริง เช่น การประเมินผู้ป่วยโดยแพทย์เวรตอนกลางคืนและส่งข้อมูลปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งช่วงเช้าในวันต่อมาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญควรดูผู้ป่วยอย่างละเอียดโดยตรง แต่เมื่อดูข้อมูลที่แพทย์เวรส่งมาทางสื่อออนไลน์แล้ว ก็เลยไม่มาประเมินผู้ป่วยโดยตรง อาจส่งผลก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ในการประเมินผู้ป่วย เพราะข้อมูลที่ได้นั้นอาจไม่สมบูรณ์ แพทย์ควรต้องมาประเมินผู้ป่วยโดยตรงเสมอ
  6. แพทย์ ทีมสุขภาพ ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและประชาชนทัวไปมีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมากเกินความเหมาะสมในโรงพยาบาล เช่น การถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟน และมีการส่งต่อในสื่อออนไลน์ อาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้ป่วย การเผยแพร่ภาพผู้ป่วยหรือข้อความที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
  7. การใช้เทคโนโลยีมากเกินไป ทำให้ละเลยการดูแลหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย เช่น การบันทึกหรือดูประวัติผู้ป่วยโดยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่ได้มองหน้าผู้ป่วย เพราะต้องสอบถามและพิมพ์ในเวลาเดียวกัน หรือระหว่างที่ตรวจผู้ป่วยก็ต้องเปิดสมาร์ทโฟนเพื่อดูไลน์ในการปรึกษาผู้ป่วย ส่งผลให้เกิดความไม่เหมาะสมหรือผู้ป่วยที่กำลังตรวจนั้นไม่เข้าใจ หรือไม่พอใจได้ เพราะเข้าใจว่าแพทย์ใช้ไลน์ในการคุยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วย
  8. การใช้สื่อออนไลน์ในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย เช่น การนำประวัติ รูปผู้ป่วยมาโพสต์ในไลน์หรือเฟสบุ๊ค อาจก่อให้เกิดความไม่เหมาะสมได้
  9. การให้ความเห็นต่อภาพผู้ป่วยในสื่อออนไลน์ต่างๆ นั้น อาจเกิดปัญหาในด้านสิทธิผู้ป่วยได้

ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีทีเหมาะสมนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในทางการแพทย์ แต่ถ้าใช้ไม่เหมาะสมก็ก่อให้เกิดปัญหาหรือผลเสียอย่างมากเช่นเดียวกัน ผมจึงอยากขอร้องให้ทุกคนใช้ดุลยพินิจที่ดีในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี